เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ตอกย้ำเศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้ 3.5-4.0%


ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  หรือสภาพัฒน์แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2  ขยายตัวร้อยละ 3.7  เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 1.3 จากไตรมาสก่อน


นายอภิศักดิ์  ตันติวรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการรคลัง  เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 ของปีขยายตัวร้อยละ 3.7 นับว่า ขยายตัวได้ดีมาก เป็นผลจากรัฐบาลเร่งรัดลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อปูพื้นฐานให้เข้มแข็ง จึงส่งผลให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง กระทรวงการคลังมองว่า  หากรัฐบาลขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวเต็มศักยภาพร้อยละ 4-5 เริ่มใกล้ความเป็นจริง เพราะการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดี   โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี ) นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว จึงทยอยมาขอลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมลงทุน (บีโอไอ) จำนวนมาก หากลงทุนในอีอีซีเต็มที่จะทำให้จีดีพีไทยโตถึงร้อยละ 5 ในช่วง 2-3 ปี

นายอภิศักดิ์  ยอมรับว่าในอดีตเมื่อเศรษฐกิจของไทยเติบโตกว่าร้อยละ 10 ช่วยให้คนจนลดลงมาก แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเมื่อเศรษฐกิจไทยหยุดขยายตัว จึงทำให้คนจนกลับมาเพิ่มขึ้น เมื่อรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่ม เช่น การลงทะเบียนสวัสดิการภาครัฐให้กับผู้มีรายได้น้อย เพื่อลดภาระค่าโดยสารรถเมล์ รถไฟ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็ว นี้  เพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยต่ำกว่าเส้นความยากจน รายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ขณะนี้กำลังพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับตัวชี้วัด เรื่องความยากจนให้ชัดเจน เบื้องต้นให้ทำบัญชีครัวเรือน โดยแบงก์รัฐดำเนินการไปแล้วบางส่วน คาดว่าภายใน 2-3 ปีจะทำให้แก้ปัญหาความยากจนดีขึ้น


ด้าน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า กรณีจีดีพีไตรมาส 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.7  ถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ  คาดว่าครึ่งปีหลังจีดีพีจะดีขึ้นต่อเนื่องจากปัจจัยการส่งออก การลงทุนเอกชน ท่องเที่ยว รายได้ภาคเกษตร ยอมรับว่ารายจ่ายรัฐบาลชะลอลงไปบ้าง แต่จะต้องหาแนวทางปั๊มขึ้นมาใหม่ นับว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตามลำดับ   จึงต้องการให้ทุกภาคส่วนช่วยกันรักษาระดับการเติบโต เพื่อใช้โอกาสนี้ปฏิรูปประเทศ ทั้งเรื่องความยากจน ปัญหาเชิงโครงสร้างต้องช่วยกันทุกฝ่าย


ขณะที่ นายกอบศักดิ์  ภูตระกูล  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลประเมินว่าเศรษฐกิจจะเติบโตร้อยละ 3.5-4 และเชื่อว่าทั้งปีนี้จะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย เพราะเครื่องยนต์ขับเคลื่อนดีขึ้นทุกตัวทั้งการส่งออกที่เคยหายไป 5 ปี และกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ การลงทุนเอกชนเริ่มเติบโตขึ้น ส่วนการลงทุนภาครัฐแม้ชะลอลงไปไม่ใช่ประเด็นน่ากังวล เพราะครึ่งปีหลังจะเป็นช่วงที่มีโครงการภาครัฐเริ่มเดินหน้า ซึ่งจะมีการเบิกจ่ายและลงทุนเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งปีแรกแน่นอน 

ส่วนที่ยังเป็นจุดอ่อนสำหรับเศรษฐกิจไทยตอนนี้เหลือเพียงกำลังซื้อของเศรษฐกิจระดับฐานรากที่ขึ้นอยู่กับราคาสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ ซึ่งเชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามสถานการณ์การส่งออก แต่คงไม่ได้กลับไปสู่ระดับสูงสุด เช่นราคายางพาราขึ้นไปอยู่ระดับสูงมาก ถ้าปรับขึ้นมาอยู่ที่ 70-80 บาทต่อกิโลกรัม เชื่อว่าจะดูแลเกษตรกรให้อยู่ได้

และ นายดอน  นาครทรรพ  ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย  สูงกว่าที่ ธปท.ประเมินไว้ โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวเร่งขึ้น สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้น และการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวดีกว่าที่ ธปท. ประเมินไว้

ในระยะต่อไป คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ควรติดตาม ได้แก่ ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้า และความต่อเนื่องของการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ


บันทึกโดย : วันที่ : 21 ส.ค. 2560 เวลา : 23:07:55
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 5:34 am