การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
อธิบดีกรมสุขภาพจิต ชี้อาการ "ใจหาย" หลังรู้ข่าววันปิดเข้ากราบพระบรมศพ "เป็นปฎิกิริยาปกติเกิดขึ้นได้" ไม่ใช่โรค


 

 

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับอาการใจหายของประชาชนหลังทราบข่าวประกาศของสำนักพระราชวัง จะเปิดให้ประชาชนเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯในวันที่ 30กันยายน 2560 เป็นวันสุดท้าย เพื่อจัดเตรียมการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพว่า  อาการดังกล่าวเป็นปฏิกิริยาทางจิตใจที่เกิดขึ้นตามปกติในผู้ที่มีความสูญเสียมีความเศร้า หรือเกิดจากสูญเสียบุคคลหรือสิ่งที่เป็นความผูกพันยึดเหนี่ยวจิตใจขาดหายไป ซึ่งในบางคนมีประสบการณ์การสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่า  ในทางสุขภาพจิตเรียกว่าประสบการณ์ที่เจ็บปวดซ้ำ ( Re traumatic experience)  ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วและปรับตัวปรับใจได้แล้วมาเกิดขึ้นซ้ำอีก  อาการใจหายนี้เป็นเพียงกลุ่มอาการที่ยังไม่ถือว่าป่วยเป็นโรคทางจิตใจ  ผู้ที่มีอาการ จะหายใจไม่อิ่ม  หายใจไม่ทั่วท้อง บางคนอาจมีความรู้สึกว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะ วูบวาบในใจ ตกใจ หรือแน่นที่หน้าอก จุกที่อกหรือจุกที่คอเหมือนมีอะไรมากดทับ อาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปตามพื้นฐานสภาพจิตใจของแต่ละคน และจะค่อยๆดีขึ้นภายใน 5- 7 วัน 

 

 

? อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า อาการใจหายหลังรู้ข่าว สามารถเกิดขึ้นได้กับประชาชนทุกคน กลุ่มคนที่อาจเกิดผลกระทบทางจิตใจได้มากกว่าคนทั่วไปคือกลุ่มที่จิตใจเปราะบางอยู่เดิมได้แก่1. ผู้ที่มีความเครียดเป็นทุนเดิมมาก่อนอยู่แล้ว ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจหรือสูญเสียคนรักในครอบครัว  2.ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้าอยู่เดิมซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ1.5 ล้านคน และ 3.กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางกายประจำตัวเช่นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น  หากเป็นมากจนถึงขั้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน มีความทุกข์ทรมานในช่วงที่ยังไม่ถึงเวลาถวายพระเพลิงพระบรมศพ เช่นเครียดจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ  ปวดเมื่อย ปวดท้อง ปวดศีรษะที่หาสาเหตุไม่ได้ ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่งเพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ประการสำคัญขอให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวทุกโรคกินยาให้ต่อเนื่องครบจำนวนตามที่แพทย์สั่งอย่าขาดยา เพราะยาจะช่วยควบคุมอาการให้อยู่ในเกณฑ์ปกติสามารถใช้ชีวิตได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป        

 

 

" ?สำหรับประชาชนทั่วไป ในช่วงแรกๆหลังรู้ข่าวก็อาจเกิดอาการได้บ้าง แม้ว่าจะได้เตรียมใจมาก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม  แต่อาการจะค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆและหมดไป อย่างไรก็ดีขอให้หมั่นสังเกตุสภาพจิตใจตนเองหรือบุคคลใกล้ชิด   หากมีอาการวูบวาบ หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น เป็นมากถึงขั้นนอนไม่หลับ ปวดศีรษะ หายใจไม่ทั่วท้องเกิดขึ้นนานเกิน 7 วัน จนทำงานทำการไม่ได้  ถือว่ามีความผิดปกติ ควรได้รับการช่วยเหลือทางจิตใจ ขอแนะนำให้ไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือปรึกษาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  หรือโทรปรึกษานักจิตวิทยาทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด24 ชั่วโมง "อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว 

? อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อไปว่า ก่อนจะถึงช่วงเวลาแห่งการถวายพระเพลิงฯ  ขอแนะนำประชาชนให้ตั้งสติ เตรียมความพร้อมทั้งกายใจดังนี้ 1. ตั้งใจ  ตั้งสติ หมั่นทำกิจกรรมที่เป็นสาธารณกุศล  เช่น การเป็นจิตอาสาช่วยในด้านต่างๆ   การทำดอกไม้จันทน์ การร่วมทำบุญบริจาคหรือกิจกรรมอื่นๆตามแต่กำลังของตน  2. ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน แล้ว นำเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการยึดแนวปฏิบัติตามหลักเศรฐษกิจพอเพียง จะทำให้เกิดความสุขใจที่ยั่งยืน 3.ติดตามข่าวสารจากทางราชการเป็นระยะๆ โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และความภาคภูมิใจแต่ตนเองและครอบครัว 4.  พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้พัก 5.หมั่นออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่คลายเครียดต่างๆ และ6.ใช้เวลาว่างทำกิจกรรมกับครอบครัวให้เป็นประโยชน์ ไม่อยู่คนเดียว

? “ หากเรามีความทุกข์ใจ มีอุปสรรคต่างๆในชีวิตหรือการดำเนินชีวิต  ก็ขอให้มองไปที่รูปของพระองค์  เสมือนพระองค์ท่านยังคอยเป็นกำลังใจให้พวกเราประชาชนชาวไทยได้ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ให้พร้อมต่อสู้สำหรับการดำเนินชีวิตต่อไปอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

 

 

ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ .นครพนม กล่าวว่า ตั้งแต่วันจันทร์นี้เป็นต้นไป โรงพยาบาลฯจะดำเนินการเพื่อป้องกันการเกิดอาการใจหายของประชาชน 3 ประการ  ประการแรกคือ ให้ ผู้ป่วยยาเสพติดหลังผ่านการบำบัดฟื้นฟู เขียนปฎิญาณตนแสดงการทำความดีที่จะลดละสิ่งเสพติด แขวนใต้ต้นโพธิ์จำลอง เพื่อถวายแด่พระองค์ท่าน เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความแน่วแน่ หักห้ามความคิด ที่จะหวนกลับไปใช้ยาเสพติดอีก 

 ประการที่ 2 จะให้ผู้รับบริการที่เป็นทั้งคนไทยและจากสปป.ลาว ทั้งผู้ป่วยและญาติ ที่ใช้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งมีวันประมาณ 200 คน  ได้ฝึกการใช้สติ  ฝึกหายใจคลายเครียด นานประมาณ 15-20 นาที ช่วงเวลา 8.30-9.00 . ในช่วงเช้าก่อนพบแพทย์ตรวจ เพื่อช่วยบรรเทาแก่ผู้ที่มารับบริการที่มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หรือเครียดเรื้อรังสะสม  ซึ่งสามารถนำกลับไปใช้ที่บ้านได้ด้วย  และประการที่ 3 ในกลุ่มผู้ป่วยในหอผู้ป่วยต่างๆทั้งหญิงและชายที่มีวันละประมาณ 70 คน  จะเน้นให้บริหารร่างกาย ออกกำลังกายเบาๆ ฝึกการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เช่นทำดอกไม้จันทน์  และทำพรมเช็ดเท้า ทำน้ำยาล้างจานจากสมุนไพรเพื่อใช้หรือจำหน่ายราคาถูก ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อพสกนิกร 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ก.ย. 2560 เวลา : 20:45:54
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 12:11 pm