การตลาด
สกู๊ป "เจาะ 3 เทรนด์ อี-คอมเมิร์ซ" ขับเคลื่อนสินค้าอุปโภคบริโภค


จากการที่ราคาสมาร์ทโฟนมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง  เพราะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจุบันทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานในด้านของอินเตอร์เน็ต ส่งผลให้ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกมีโทรศัพท์มือถืออยู่ภายใต้การครอบครองคนละไม่ต่ำกว่า 2 เครื่อง

 

 

 

 

แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือที่เรียกกันว่าอี-คอมเมิร์ซ จึงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  โดยมีภูมิภาคเอเชียเป็นผู้ขับเคลื่อนธุรกิจ  เพราะถ้าหากพูดถึงนักช้อปตัวยงแล้วเอเชียถือเป็นผู้บริโภคที่มีการจับจ่ายใช้สอยมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออฟไลน์หรือหน้าร้าน  และการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์  ซึ่งปัจจุบันมีความง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด  หรือ KWP ผู้นำระดับโลกด้านการวิจัยพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคเชิงลึก ที่มีความเชี่ยวชาญในกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภคที่มีอัตราการบริโภคสูง หรือ FMCG (Fast Moving Consumer Goods)ออกมาเปิดเผย 3 เทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต คือ  1.สมาร์ทโฟน เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงอิทธิพลอย่างมากต่อผู้บริโภคในปัจจุบัน 2.การปฏิวัติตลาดด้วยช่องทางอี-คอมเมิร์ช  และ 3.การตอบรับต่อความคาดหวังที่เปลี่ยนไปของกลุ่มผู้บริโภคต่อแบรนด์ FMCG

 

 

นายอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด  กล่าวว่า เอเชียนับได้ว่าเป็นตลาดหลักที่เป็นตัวแปรสำคัญที่จะบ่งชี้ และ กำหนดแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มสินค้า FMCG ในตลาดโลก ดังนั้นหากบริษัทหรือนักการตลาดเข้าใจความเป็นไปของตลาด FMCG ในเอเชีย จะสามารถทำให้รู้ถึงกลไกในการสร้างโอกาสการเติบโตให้กับตลาด FMCG ได้ เนื่องจากตลาดเอเชียเป็นที่ตลาดใหญ่ มีกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย และที่สำคัญมีอัตราการจับจ่ายในครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มสูงยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จากการพฤติกรรมในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในตลาดเอเชียที่เปลี่ยนไปถือเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงภาพและแนวโน้มของตลาด FMCG ที่จะเป็นไปในอนาคตอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้ได้เป็นอย่างดี  ดังนั้นหากสามารถเข้าใจถึงกลไกลและสถานการณ์ของตลาดเอเชียนี้แล้วนั้น นักการตลาดก็จะสามารถคาดการณ์และสร้างสมมุติฐานเพื่อเตรียมตัวรับมือการความเปลี่ยนแปลงของตลาดอื่นๆในอนาคตอันใกล้นี้

สำหรับแนวโน้มที่ 1ที่จะเป็นตัวผลักดัน คือ สมาร์ทโฟน เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงอิทธิพลอย่างมากต่อผู้บริโภคในปัจจุบัน   เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนและสามารถเข้าถึงและเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้นั้น เป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญมากต่อแบนรด์ FMCG ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งสาเหตุหลักๆก็เกิดจากปัจจัยสำคัญ  2 ประการ คือ

1. ผู้บริโภคกลุ่มนี้นับได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญสูง เนื่องจาก มีเม็ดเงินที่สามารถนำมาจับจ่ายใช้สอยสูงกว่ากลุ่มผู้บริโภคที่ไม่มีสมาร์โฟนในครอบครอง และ 2. เทคโนโลยีจากสมาร์ทโฟนสร้างโอกาสในการพัฒนารูปแบบความสัมพันธ์และรูปแบบการติดต่อสื่อสารในบริบทใหม่ๆ ที่สามารถส่งผลต่อกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างลึกซึ้ง

นายอิษณาติ กล่าวต่อว่า  หลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคที่มีสมาร์ทโฟนและเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจับจ่ายใช้สอยเป็นเม็ดเงินมากกว่ากลุ่มผู้บริโภคที่ไม่มีนั้น มีให้เห็นอยู่ทั่วไปในตลาดเอเชีย หากมองที่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะพบว่า กลุ่มครัวเรือนที่เข้าถึงสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตนับเป็นสัดส่วนถึง 60% ของมูลค่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด อำนาจในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังมากกว่ากลุ่มที่ไม่มีสมาร์โฟนถึง 30% ด้วยกัน

สำหรับแนวโน้มที่ 2 ที่จะเกิดขึ้น คือ การปฏิวัติตลาดด้วยช่องทางอี-คอมเมิร์ช   ถึงแม้ในประเทศจีนที่ตลาดอี-คอมเมิร์ช เป็นตลาดที่ใหญ่และเติบโตเร็วที่สุดในโลกก็ตาม ยอดขายการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ยังคงเป็นสัดส่วนที่เล็กมากเมื่อเทียบกับยอดขายรวมของตลาด FMCG ทั้งหมด

 

 

ทั้งนี้ เห็นได้จากรายงานการวิจัยชุดอี-คอมเมิร์ช ที่จัดทำโดย กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล  ที่คาดการณ์ไว้ว่า มูลค่าการซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ชจะมีมูลค่าอยู่ที่ 9% ของตลาด FMCG ทั้งหมดในปี 2025 หรือปี 2568  ซึ่งเพิ่มถึงเท่าตัวของมูลค่าในปัจจุบันนี้ และเอเชียเองเป็นตลาดอี-คอมเมิร์ชที่ดูมีแนวโน้มและเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดกับตลาดอี-คอมเมิร์ชของทั้งโลก เนื่องจากอัตราการเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ชในเอเชียนั้นสูงมากที่ 38% ในปี 2559  ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ชโดยรวม และตลาดอี-คอมเมิร์ชเอเชียยังมีมูลค่ามากกว่า 50% ของตลาดอี-คอมเมิร์ชทั้งหมดอีกด้วย

ขณะที่แนวโน้มที่ 3 คือ  การตอบรับต่อความคาดหวังที่เปลี่ยนไปของกลุ่มผู้บริโภคต่อแบรนด์ FMCG จากการศึกษาชุด “Asia Brand Power” ของกันตาร์ เวิรลด์พาแนล  พบว่า ลักษณะของแบรนด์ท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จมักจะเป็นแบรนด์ที่เข้าใจถึงเทรนและความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ซึ่งมาในรูปแบบเรื่องราวที่มาจากชีวิตจริงของผู้บริโภค หรืออาจเป็นรูปแบบในเชิงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในสังคมและประเทศชาติในภาพรวม หลายคนอาจจะได้ยินประโยคที่ว่า “Health is the new wealth” นั่นคือ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในปัจจุบันให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพ พวกเขาอยากมีรูปร่างและสุขภาพที่ดี 

ดังนั้นถ้าหากแบรนด์สินค้า FMCG ไหนที่เข้าใจความต้องการของผู้บริโภคแท้จริง และมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำการตลาดให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จะทำให้เป็นแบรนด์สินค้าที่มีความแข็งแกร่งและสามารถคงอยู่ในตลาด FMCG ได้ต่อไปอย่างยั่งยืน  แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศและของโลกจะมีปัญหาก็จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้ประกอบการที่ไม่ปรับตัวทำอะไรเลย


LastUpdate 01/10/2560 21:09:36 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 6:09 pm