การตลาด
สกู๊ป "โรงพยาบาลพญาไท 2" ชูมาตรฐาน JCI ปั้นรายได้สิ้นปีทะลุ 4,000 ล้าน


ธุรกิจโรงพยาบาลถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการแข่งขันกันค่อนข้างรุนแรง  เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคให้ความใส่ใจในการรักษาพยาบาลมากขึ้น  ประกอบกับปัจจุบันโรงพยาบาลแต่ละแห่งไม่ได้มุ่งเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าแค่ในประเทศเท่านั้น แต่ขยายฐานลูกค้าไปในตลาดต่างประเทศด้วย  

ด้วยเหตุนี้แต่ละโรงพยาบาลจึงต้องพัฒนาบริการรอบด้านไม่ว่าจะเป็นความเชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์  เครื่องมือในการรักษา  บริการ และบรรยากาศภายในโรงพยาบาล  ยิ่งถ้าได้มาตรการด้านสถานประกอบการที่ได้มาตรฐานระดับสากลยิ่งทำให้ได้รับความสนใจจากลูกค้ามากขึ้น  และจากปัจจัยนี้  จึงทำให้โรงพยาบาลพญาไท 2  ต้องออกมาชูมาตรฐานที่ได้รับจาก JCI (Joint Commission International Accreditation) ฉบับที่ 6 จากสถาบัน JCI  ในสหรัฐอเมริกา มาเป็นเครื่องการันตีความเป็นเลิศทางด้านการแพทย์ หรือ Center of Excellence  เพื่อยกระดับโรงพยาบาล 

        นพ.อนันตศักดิ์ อภัยรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวว่า  แนวทางการดำเนินธุรกิจของโรงพยาบาลพญาไท 2 นับจากนี้  นอกจากจะให้ความสำคัญในด้านทางการแพทย์แล้ว  ยังจะให้ความสำคัญในด้านของการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถและเชี่ยวชาญมากขึ้น  เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยเมื่อเข้ามาใช้บริการภายในโรงพยาบาล ซึ่งล่าสุดทางโรงพยาบาลได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI (Joint Commission International Accreditation) ฉบับที่ 6 จากสถาบัน JCI สหรัฐอเมริกา ว่า  เป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลที่มีความเป็นเลิศทางด้านการแพทย์ หรือ Center of Excellence  

จากมาตรฐานทางการแพทย์ที่ได้รับดังกล่าว  ทำให้โรงพยาบาลพญาไท 2 วางเป้าหมายในปี 2563 ไว้ว่าจะต้องเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศทางการแพทย์ที่ครบวงจรให้ได้  ด้วยการมีบริการที่ทัดเทียมกับโรงพยาบาลในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และสถานพยาบาลนานาชาติทั่วโลกใน 4 ศูนย์ ได้แก่ 1.ศูนย์ให้บริการทางด้านชีวอนามัย 2.ศูนย์บริการทางด้านสมอง 3.ศูนย์บริการทางด้านหัวใจ และ 4.ศูนย์บริการทางด้านอุบัติเหตุ  โดยขณะนี้ได้เตรียมที่จะเพิ่มศูนย์บริการทางด้านโรคมะเร็ง เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่จะเข้ามาใช้บริการ

 

นพ.อนันตศักดิ์ กล่าวต่อว่า การยกระดับมาตฐานการบริการของโรงพยาบาลพญาไท 2 ในครั้งนี้  นอกจากจะเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ป่วยที่จะเข้ามาใช้บริการแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพด้านคุณภาพความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วย  ซึ่งสิ่งดังกล่าวจะพาให้โรงพยาบาลพญาไท 2 ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านบริการสุขภาพของโรงพยาบาลในเวทีโลก  เพราะนอกจากทางโรงพยาบาลจะรับมาตรฐานในด้านของบริการแล้วยังได้รับมาตรฐานการดูแลรักษาพยาบาลรายโรค CCPC (Clinical Care Program)จำนวน  2 โรค คือ  โรคหลอดเลือดสมองตีบอุดตันเฉียบพลัน   และการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ  ขณะที่ปี 2561 คาดว่าจะได้ใบรับรองด้านศัลยกรรมกระดูกและทางด้านเด็กเข้ามาเพิ่มเติม

สำหรับแผนการลงทุนภายในโรงพยาบาลระยะยาวนับตั้งแต่ปี  2559-2563  ทางโรงพยาบาลมีแผนที่จะใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท  ลงทุนพัฒนาโรงพยาบาลในด้านต่างๆ  แบ่งออกเป็นพัฒนาทางด้านอาคาร 50% พัฒนาทางด้านเครื่องมือแพทย์ 30% และพัฒนาบุคลากร 20%   เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น  โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยจากต่างประเทศ  ซึ่งทางโรงพยาบาลมีแผนที่จะขยายฐานให้เพิ่มขึ้นเป็น 30% ในอีก 2-3 ปีนับจากนี้ จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 15%

ทั้งนี้ ข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ปี 2559 พบว่าชาวต่างชาติเดินทางมาใช้บริการการแพทย์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เป็นกลุ่มผู้ป่วยในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศเมียนมาและบังกลาเทศ ที่เติบโตมากกว่า 70% หรือเฉลี่ยมาจาก 2 ประเทศนี้ จากปีก่อนที่รายได้มาจาก 2 ประเทศนี้ประมาณ  60-70 ล้านบาท นอกจากนี้  ยังมีกลุ่มผู้ป่วยจากประเทศจีนที่นิยมเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในไทยเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะการเข้ามาปรึกษาด้านภาวะการมีบุตรยาก

 

 

จากโอกาสทางธุรกิจดังกล่าว  ทำให้โรงพยาบาลพญาไท 2  เดินสายโรดโชว์ไปยังประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมา  เช่น การไปโรดโชว์ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และการจัดสัมมนาทางการแพทย์  ด้วยการเชิญผู้สนใจทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคคลทั่วไป เช่น ที่กัมพูชา เมียนมา  และบังกลาเทศ  เข้ามาร่วมงาน  เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและทำการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงบริการที่โรงพยาบาลพญาไทมี  ซึ่งหลังจากเดินหน้าทำการตลาดในรูปแบบดังกล่าวส่งผลให้ปีนี้โรงพยาบาลพญาไท 2 มีอัตราการเติบโตของกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติเพิ่มขึ้น 17%

ปัจจุบันโรงพยาบาลพญาไท 2 มีกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการเป็นชาวต่างชาติอยู่ที่ประมาณ 15%  อีก 85% เป็นกลุ่มผู้ป่วยคนไทย  และจากแนวทางที่จะเพิ่มสัดส่วนผู้ป่วยชาวต่างชาติเพิ่มเป็น 30% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า  ทำให้โรงพยาบาลพญาไท 2 ต้องเร่งทำการตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น  ซึ่งกลุ่มประเทศที่จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ ซีแอลเอ็มวี  เนื่องจากเป็นประเทศที่อยู่ติดกับประเทศไทย  และบริการทางการแพทย์ของไทยมีการพัฒนาที่ดีกว่า 

นพ.อนันตศักดิ์  กล่าวอีกว่า  หลังจากเดินหน้าพัฒนาโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง  คาดว่าสิ้นปี 2560 นี้โรงพยาบาลพญาไท 2 น่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ   4,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 6%  ต่ำกว่าเป้าเดิมที่วางไว้เล็กน้อย  เนื่องจากต้นปีคาดว่าจะมีรายได้เติบโตที่ 10%  แต่เนื่องจากปีนี้ภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างซบเซา  ประกอบกับปีนี้ไม่มีภาวะโรคระบาดเหมือนกับปีที่ผ่านมา  เช่น  โรคไข้หวัดใหญ่  และโรคไข้เลือดออก จึงทำให้รายได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้เล็กน้อย

การออกมาปรับตัวของโรงพยาบาลพญาไท 2 ในครั้งนี้ นอกจากช่วยขยายฐานผู้ป่วยให้เพิ่มขึ้นแล้ว  ยังถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการรองรับการแข่งขันที่มีความรุนแรง  เพราะปัจจุบันแต่ละโรงพยาบาลมุ่งเน้นทางด้านบริการทางการแพทย์เป็นอย่างมาก  ซึ่งหากมองไปที่ฝั่งของผู้ป่วยแล้ว  การพิจารณาเลือกใช้บริการโรงพยาบาลนอกจากจะเป็นในด้านของการบริการทางการแพทย์แล้ว  ราคาที่มีความเหมาะสมก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ต.ค. 2560 เวลา : 14:02:27
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 1:07 am