เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ผู้ว่าธปท. มองศก.ไทยปีนี้-ปีหน้าโต 3.8%


ผู้ว่าธปท. มองศก.ไทยปี 61 จะโตใกล้เคียงปี 60 ที่คาดโต 3.8% ชี้การลงทุนภาครัฐ - ท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญในการขับเคลื่อน ส่วนหนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหา ขณะที่ศก.โลกเห็นสัญญาณสดใส หลังIMF เพิ่มประมาณการณ์เศรษฐกิจขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี  พร้อมประเมินจากนี้จะมีผู้ใช้ e-Payment เพิ่มมากขึ้น 

 

 

   นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยในงานสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2561 โดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์  หัวข้อ สนทนากับผู้ว่าการธปท. เอส เอ็มอี ไทย ก้าวไปกับไทยแลนด์ 4.0 ว่า   เศรษฐกิจไทยในปี 2561 ธปท.มองว่าจะเติบโตใกล้เคียงกับปี 2560 ที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตที่ 3.8% โดยได้รับอานิสงค์จากการส่งออกที่ฟื้นตัวมากขึ้นในทุกประเภทสินค้า  การจ้างงานและรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อการบริโภคในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น การลงทุนภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ การลงทุนเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง  โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักร สินค้าทุน เพื่อเพิ่มผลิตภาพ 
   ในปี 2561 การลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  อย่างไรก็ตาม ภาคเศรษฐกิจไทยที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรและต่างจังหวัดยังไม่ดีมากนัก   แม้รายได้เกษตรกรบางกลุ่มเริ่มปรับดีขึ้น แต่ยังประสบปัญหาภาวะหนี้ครัวเรือน ที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 77 - 78 % ต่อ GDP ลดลงจากช่วงปลายปี 2558 ที่แตะระดับ 80 %ต่อ GDP ซึ่งในช่วง 5 - 6 ปีที่ผ่านมาไทยเป็นหนี้ต่อหัวสูงขึ้นและรวดเร็ว และ 1 ใน 5 ของคนที่เป็นหนี้ช่วงอายุ 30 ปี จะเป็นหนี้เสีย ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนถือเป็นความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจไทยและสังคมไทยในอนาคต จึงเป็นเหตุที่สำคัญที่ธปท.ออกมาตรการควบคุมและกำกับดูแล
   ด้านเศรษฐกิจโลกขณะนี้ต่างจากช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี แสดงถึงความมั่นใจต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีและชัดเจนมากจากที่ผ่านมา และเป็นการฟื้นตัวที่กระจายตัวจากการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นทั้งในสหรัฐอเมริกา และกลุ่มยุโรโซนที่ตลาดแรงงานเริ่มฟื้นตัว และได้ส่งผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามและระมัดระวังปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่รุนแรงมากขึ้น ในคาบสมุทรเกาหลี และตะวันออกกลาง ปัญหามาตรการกีดกันทางการค้า จากนโยบายของสหรัฐอเมริกา รวมถึง สภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่เริ่มตึงตัว ซึ่งจะเข้าสู่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะอยู่ในช่วงขาขึ้น เมื่อเทียบกับช่วง 7 - 8 ปีทีผ่านมาที่อยู่ในช่วงขาลง
   ภาค SMEs จะต้องให้ความสำคัญเรื่องของเทคโนโลยี ที่จะสนับสนุนการแข่งขันให้เกิดประสิทธิภาพ และยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทช่วยให้ต้นทุนของ SMEs ถูกลงเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ รวมถึงการบริหารความเสี่ยงเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ในอนาคตจะเผชิญกับความผันผวนและความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะความผันผวนจากตลาดเงินตลาดทุนโลก โดยผู้ประกอบการจะต้องจัดการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา   
   นายวิรไท  เปิดเผยถึงการใช้พร้อมเพย์ได้พัฒนาเพื่อตอบโจทย์ให้กับประชาชน สนับสนุนการลดใช้เงินสดของประชาชน โดยข้อมูลพบว่า มีปริมาณธุรกรรม e-Payment ในธุรกรรมขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น แสดงถึงประชาชนใช้จ่ายเงินในชีวิตประจำวันและค่อนข้างกระจายตัวเพิ่มมากขึ้น  และล่าสุดจะมีบริการพร้อมเพย์รูปแบบใหม่เพื่อตอบโจมย์ภาคธุรกิจ ได้แก่  Bill payment ซึ่งจะสามารถให้ผู้ใช้บริการสามารถชำระเงินที่มีข้อมูลเชื่อมโยงกับการใช้บริการสินค้า สะดวกต่อการซื้อขายออนไลน์ และการจ่ายค่าบริการ และในต้นปี 2561 จะมีบริการเรียกชำระเงิน หรือ Request to pay  โดยร้านค้าสามารถส่งคำขอให้ลูกค้าสามารถจ่ายเงินได้  โดยลูกค้าสามารถจ่ายเงินผ่านพร้อมเพย์ตามคำขอ ซึ่งจะช่วยให้บริการ ข้อมูลซื้อสินค้า การชำระเงินและการทำบัญชีสะดวกมากขึ้น 

   นอกจากนี้ หลายธนาคารได้พัฒนาการจ่ายเงินผ่าน QR Code ซึ่งจะเป็นรูปแบบการให้ข้อมูลการชำระเงินที่สะดวกขึ้น โดยเชื่อว่าจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 พ.ย. 2560 เวลา : 09:50:59
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:18 pm