การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กรมสุขภาพจิตแนะผู้ประสบภัยน้ำท่วม หมั่นพูดคุยกัน ช่วยคลายเครียดได้ดีในช่วง 72 ชั่วโมงแรก


 กรมสุขภาพจิต แนะผู้ประสบภัยน้ำท่วม ดูแลความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจในช่วง 72 ชั่วโมงแรกหลังน้ำท่วม   หมั่นพูดคุยกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน เพื่อได้ปรับทุกข์ ความเครียดออกไปจากจิตใจ จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย  เบาใจขึ้น และให้ช่วยกันสังเกตเพื่อนบ้านที่ประสบภัยด้วยกัน  หากพบมีอาการเศร้าซึม ไม่แจ่มใสร่าเริงเหมือนเดิม ให้รีบเข้าไปพูดคุย ปลอบใจ รับฟังปัญหา  หากอาการยังไม่ดีขึ้นให้แจ้งอสม.หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่  เพื่อให้ได้รับการดูแลจิตใจตั้งแต่ต้น  ป้องกันเครียดรุนแรง

 

 

               นายแพทย์สมัย  ศิริทองถาวร  รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดเพชรบุรี ว่า ในเบื้องต้นมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 20,000 คน กรมสุขภาพจิตได้มอบหมายให้สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ จ.นครปฐมและศูนย์สุขภาพจิตที่ จ.ราชบุรี จัดทีมจิตแพทย์เอ็มแค็ท( Mental Health  Crisis Assessment and treatment team :MCATT ) ร่วมวางแผนการให้บริการร่วมกับทีมจิตแพทย์เอ็มแค็ทจากโรงพยาบาลต่างๆในจังหวัดเพชรบุรีและเขตสุขภาพที่ 5  จำนวน 6 ทีม เพื่อให้การดูแลจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและผู้ป่วยจิตเวชเก่าที่อยู่ในพื้นที่  เพื่อป้องกันปัญหาขาดยา  เนื่องจากน้ำท่วม อาจทำให้ยาที่กินประจำสูญหายได้   ในรายที่พบว่ามีปัญหาจิตใจ เช่นเครียดจัด หรือมีอาการซึมเศร้า จะให้การดูแลอย่างต่อเนื่องจนกว่าอาการจะเป็นปกติ 

               สำหรับในช่วง  72 ชั่วโมงแรกหลังน้ำท่วม  จัดอยู่ในช่วงฉุกเฉิน  ขอให้ประชาชนดูแลด้านความปลอดภัยทางร่างกายให้มาก และต้องไม่ลืมจิตใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในอาการเครียด  วิตกกังวล หรือที่เรียกว่ากันกลุ้มใจ  เนื่องจากบางคนไม่เคยประสบมาก่อนหรือเคยประสบแต่ไม่รุนแรงเท่านี้  ถือเป็นปฎิกริยาปกติที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ  อาการจะค่อยๆดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์  วิธีการที่จะช่วยให้อาการที่กล่าวมาลดน้อยลง  แนะนำให้ผู้ประสบภัยด้วยกัน หมั่นพูดคุยไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกัน   อาจคุยกันระหว่างสมาชิกภายในบ้านหรือเพื่อนบ้าน  การพูดคุยจะเป็นการช่วยปรับทุกข์ ระบายความเครียดออกไปจากจิตใจได้  จะทำให้เกิดความความรู้สึกเบาใจ สบายใจ เนื่องจากเราไม่ได้เผชิญปัญหาเพียงคนเดียว 

               ประการสำคัญ ขอให้ผู้ประสบภัยช่วยกันสอดส่องเพื่อนบ้าน คนรู้จัก ที่มีทุกข์ในใจ  โดยสังเกตจากอาการที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เงียบซึม เก็บตัวอยู่คนเดียว   ไม่ร่าเริงแจ่มใส   หน้าตาเศร้าหมอง หรือดื่มสุรา สูบบุหรี่จัด   หากพบขอให้รีบเข้าไปพูดคุย ปลอบใจ และรับฟังปัญหา อย่าทิ้งให้อยู่ตามลำพัง  และหากอาการยังไม่ดีขึ้น  ให้แจ้งอสม.หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้รับการดูแลที่เหมาะสม ป้องกันความเครียดรุนแรง   หรืออาจโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต1323 ฟรี ตลอด24 ชั่วโมง  ทั้งนี้การเป็นผู้ให้การช่วยเหลือคนอื่นขณะที่ตนเองก็เป็นผู้ประสบภัยด้วย  จะมีผลดี เป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้ตนเอง ช่วยให้จิตใจเกิดพลังเข้มแข็ง สามารถฟื้นตัวก้าวผ่านวิกฤติครั้งไปได้เร็วขึ้น   รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 พ.ย. 2560 เวลา : 15:35:52
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 7:58 am