เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ส่งออกอาหารปีหน้าโต 7% แต่ห่วงเงินบาทแข็งค่าฉุดการเติบโต


 การส่งออกอาหาร-เกษตรแปรรูปของไทยนับเป็นหนึ่งใน10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้การสนับสนุน    เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีจุดแข็งสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้   ซึ่งผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร    นายยงวุฒิ   เสาวพฤกษ์    ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า   ปี 2560  คาดว่าอุตสาหกรรมอาหารจะมีการส่งออกปริมาณ 32.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านบาท  โตขึ้นจากปีก่อน 5.3%  แต่ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ว่าจะส่งออกได้ 33 ล้านตัน   มูลค่า 1.03 ล้านล้านบาท   เนื่องจากมีหลายสินค้าส่งออกได้ลดลง เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง  น้ำผลไม้  มันสำปะหลัง ฯลฯ  ขณะที่มูลค่าส่งออกลดลงในรูปเงินบาท   เนื่องจากภาวะการแข็งค่าของเงินบาทไทยในช่วงที่ผ่านมา    แม้ว่ามูลค่าส่งออกในรูปเงินเหรียญสหรัฐจะโตถึง 10%

 


           
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2561 คาดว่า  จะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2560 ระดับ 7% มีมูลค่าส่งออก 1.07 ล้านล้านบาท   โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวต่อเนื่อง   ผลผลิตวัตถุดิบสินค้าเกษตรในปีการผลิต 2560/2561 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำฝนและนโยบายสนับสนุนภาค เกษตรกรรมและเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs และกลุ่ม OTOP)  แต่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือการแข็งค่าของเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มต่อเนื่อง   ราคาน้ำมันที่จะกระทบต้นทุนขนส่ง และการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
          
ทั้งนี้ สินค้าที่คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ข้าว  ไก่  น้ำตาลทราย กุ้ง และทูน่ากระป๋อง    ส่วนสินค้าที่คาดว่าจะมีมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มะพร้าวเพิ่มขึ้น 17.6%,  แป้งมันสำปะหลัง และอาหารพร้อมรับประทาน เพิ่มขึ้น 10%, กุ้งเพิ่มขึ้น 9.3%, น้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น 6.8%, เครื่องปรุงรสเพิ่มขึ้น 6.8%, ไก่เพิ่มขึ้น 6.6% และน้ำผลไม้เพิ่มขึ้น 6.6%

 


        
นายยงวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า  ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมอาหาร คือ การผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมตามนโยบายของรัฐ  ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหาร  โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่ภาครัฐ สถาบันอาหาร รวมทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไท ย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ร่วมกันผลักดันให้เกิดการลงทุนใ นพื้นที่ดังกล่าว เพื่อผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

ด้านนายพจน์  อร่ามวัฒนานนท์   รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าตั้งแต่ปลายปี 2559 กว่า  2 บาท   และยังคงมีการแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่งทางการค้าของไทย เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม    ซึ่งถือเป็นปัญหาที่น่าห่วงมากที่สุดในปี 2561 เพราะรายได้จากการส่งออกเมื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทแล้ว  จะลดลงซึ่งกระทบผลประโยชน์ที่จะตกลงไปถึงมือเกษตรกรและเอสเอ็มอี     ดังนั้นทางการควรเข้ามาดูแลให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างสมดุลกับค่าเงินของประเทศที่เป็นคู่แข่งในการส่งออกสินค้า


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ธ.ค. 2560 เวลา : 23:39:56
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 8:31 pm