การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กรมสุขภาพจิต แนะประชาชนตั้งสติ เตรียมพร้อมรับมือพายุ 'ไคตั๊ก' ล่วงหน้า จะช่วยลดเครียด ฟื้นตัวได้เร็ว !!


 อธิบดีกรมสุขภาพจิต สั่งสถานพยาบาลในสังกัดในภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือภาวะน้ำท่วมจากพายุ “ไคตั๊ก” พร้อมแนะประชาชนตั้งสติ คิดถึงความปลอดภัยชีวิตไว้ก่อน  และเตรียมความพร้อมในครอบครัวไว้ล่วงหน้า 7 ประการ อาทิ  จัดเตรียมอุปกรณ์จำเป็นเช่นไฟฉาย สำรองอาหารน้ำดื่ม เสื้อผ้า อย่างน้อย 3 วันเพื่อยังชีพเอาตัวรอดในภาวะฉุกเฉิน  จัดเก็บเอกสารสำคัญและของมีค่าไว้ในที่ปลอดภัย  จะช่วยป้องกันและลดความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิต  ผลกระทบจิตใจจะน้อยลง ฟื้นตัวได้เร็วหากเกิดสถานการณ์จริง  

 

 

 

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมรับมือน้ำท่วมจากพายุโซนร้อนไคตั๊ก ( KAI-TAK) ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงวันที่  22-24  ธันวาคม 2560 ว่า  ได้ให้สถานพยาบาลที่อยู่ในสังกัดในภาคใต้ที่มี  5  ทั่วประเทศ ประกอบด้วยโรงพยาบาลจิตเวช 2 แห่ง ศูนย์สุขภาพจิต 2 แห่ง และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคใต้   1 แห่ง เตรียมความพร้อมรับมือ 2 เรื่อง คือเตรียมป้องกันน้ำท่วมสถานพยาบาลไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง     และเตรียมพร้อมทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท พร้อมเวชภัณฑ์ยาที่จำเป็นอย่างน้อยแห่งละ 3 ทีม เพื่อสนับสนุนทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทในพื้นที่ ในการดูแลจิตใจผู้ประสบภัยในภาวะฉุกเฉินอย่างเต็มที่   

 

ในส่วนของประชาชน   ขอแนะนำให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่มีโอกาสน้ำท่วมซ้ำอีก หรือพื้นที่ที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วมใหม่   ติดตามข่าวสารประกาศเตือนภัยจากทางราชการเป็นหลัก   เพื่อลดการตื่นตระหนกและความวิตกกังวล   ขอให้ตั้งสติและคิดถึงความปลอดภัยของชีวิตในครอบครัวไว้ก่อน  และให้ปฏิบัติดังนี้ 

1.  ครอบครัวที่มีเด็ก  ผู้ปกครองควรพูดคุยกับเด็กให้รับรู้ความเป็นไปได้ของภัยน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้น  

2.ให้เตรียมแผนการรับมือไว้ล่วงหน้า  กำหนดหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว ซักซ้อมความเข้าใจ หากเกิดน้ำท่วมขึ้นจริงจะสามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้ทันที    

3.   เตรียมอุปกรณ์จำเป็นเช่นไฟฉาย  สำรองสิ่งของยังชีพทั้งอาหารและน้ำดื่ม น้ำใช้  เสื้อผ้าของใช้จำเป็นให้ใช้ได้อย่างน้อย 3 วัน เพื่อการยังชีพ เอาตัวรอดในภาวะฉุกเฉิน   

4.  เคลื่อนย้ายทรัพย์สินที่มีค่าไว้ในที่สูงหรือปลอดภัย   และจัดเก็บเอกสารสำคัญไว้ในหีบห่อที่กันน้ำได้  และหยิบฉวยได้ง่ายเมื่อเกิดเหตุ    

5. วางแผนการเคลื่อนย้ายผู้ที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อยเช่นผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ไว้ให้พร้อม  

6. ผู้ที่มีโรคประจำตัวทุกโรคทั้งโรคทางกายและโรคทางจิตใจ  ขอให้จัดเตรียมยาที่กินประจำไว้ใกล้ตัว  หยิบฉวยได้ง่ายในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อป้องกันอาการกำเริบจากการขาดยา

และ 7. ควรจดเบอร์โทรฉุกเฉินของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะด้านสุขภาพและความปลอดภัยไว้ประจำบ้าน ได้แก่  สายด่วนสุขภาพจิต 1323  ,     สายด่วนกู้ชีพ 1669  , สายด่วนนิรภัย  1784 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือปภ.  หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถโทรขอรับความช่วยเหลือได้ทันที      

 

“  การเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะน้ำท่วมไว้ล่วงหน้าทั้งในระดับบุคคลและครอบครัว   เป็นสิ่งสำคัญมาก จะช่วยป้องกันตัวเองและความเสียหายจากน้ำท่วม  ป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตที่ได้ผลดีมาก  เพราะจะช่วยลดความสับสน ลดความรุนแรงจากการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินลงได้มาก  ผลกระทบทางจิตใจโดยเฉพาะความเครียดจะลดน้อยลง ซึ่งมีผลดีช่วยให้ผู้ประสบภัยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในภายหลัง  ” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ธ.ค. 2560 เวลา : 15:59:25
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 7:28 pm