เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ใช้จ่ายปีใหม่พุ่ง 1.32 แสนล้านสูงสุดเป็นประวัติการณ์


เป็นประจำทุกสิ้นปี  ที่จะมีการจัดทำผลสำรวจการใช้จ่ายของประชาชน  ซึ่งปีนี้นับเป็นอีก 1 ปี  ที่การใช้จ่ายมีทิศทางที่ดีขึ้น  โดย นางเสาวณีย์   ไทยรุ่งโรจน์   อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  เผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ว่า   ในภาพรวมคาดว่าประชาชนทั่วประเทศจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับในช่วงปีใหม่นี้อยู่ที่ประมาณ 132,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.1% ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการสำรวจมาในรอบ 13 ปี

 



แบ่งเป็น การใช้จ่ายของประชาชนในกรุงเทพฯ 64,292 ล้านบาท และการใช้จ่ายของประชาชนในต่างจังหวัด 67,757 ล้านบาท   แต่ทั้งนี้หากรวมการใช้จ่ายที่ได้เกิดขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น มาตรการช็อปช่วยชาติ, โครงการ "รวมใจ เพิ่มสุข ช็อปสนุก ลดรับปีใหม่" และมาตรการอื่นๆ เช่น เที่ยวช่วยชาติ ก็คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้รวมทั้งสิ้น 159,632 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.4%

 



และหากแยกเป็นพฤติกรรมการใช้จ่ายสำหรับตัวเองจะพบว่า 3 อันดับแรกที่ประชาชนจะนำเงินไปใช้จ่ายมากสุด คือ การทำบุญ   รองลงมา คือ ท่องเที่ยว และจัดเลี้ยงสังสรรค์ ส่วนการใช้จ่ายเพื่อซื้อของขวัญให้ผู้อื่นนั้น  พบว่าของขวัญยอดนิยม 3 อันดับแรก คือ เงินสด/เช็คของขวัญ รองลงมา คือ การรับประทานอาหาร และกระเช้าของขวัญ

ส่วนพฤติกรรมการท่องเที่ยวของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 83.5% ยังเลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ   ขณะที่อีก 16.5% เป็นการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ   ทั้งนี้ หากเป็นการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ จะเป็นการท่องเที่ยวประเทศในแถบเอเชียสูงสุด รองลงมา คือ ยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง ส่วนการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ จะเป็นการท่องเที่ยวในจังหวัดภาคกลางสูงสุด  รองลงมาคือ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดในภาคเหนือ โดยสถานที่ที่ประชาชนเลือกจะเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศมากสุด คือ ภูเขา  รองลงมา คือ ทะเล, น้ำตก, โบราณสถาน

 



จากการสำรวจยังพบว่า  สิ่งที่ประชาชนแสดงความเป็นห่วงมากที่สุดในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 สูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1.อุบัติเหตุบนท้องถนน 2.บริการขนส่งสาธารณะไม่เพียงพอ 3.ปัญหาการจราจร 4.ปัญหาการก่อการร้าย และ 5.ความปลอดภัยของที่พักค้างแรม

 



ขณะที่ นายธนวรรธน์  พลวิชัย   ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นการซื้อสินค้าคงทน และสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้น  และคาดว่าการจับจ่ายใช้สอยจะเริ่มกลับมาเป็นปกติในช่วงปลายไตรมาส 2 ของปี 61

ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้า เชื่อว่าการใช้จ่ายและกำลังซื้อของประชาชนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในปลายไตรมาส 2 ปีหน้า


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ธ.ค. 2560 เวลา : 11:23:43
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 10:24 pm