เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
'เงินบาท' รับปีจอแข็งค่าทำสถิติรอบกว่า 3 ปี


 ต้อนรับปีจอด้วยความแข็งแกร่ง   หลังเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น ทำสถิติในรอบกว่า 3 ปี  ตั้งแต่วันที่เริ่มเปิดทำการในวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา   แนะเอสเอ็มอีป้องกันความเสี่ยง

 


          
ซึ่งดร.สมคิด  จาตุศรีพิทักษ์   รองนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า แนวโน้มเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง  เป็นการเคลื่อนไหวสอดคล้องกับประเทศในภูมิภาค เพราะเงินทุนไหลเข้าจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่า   ขณะที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวมากขึ้น และจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนนับว่าภาคเอกชนรายใหญ่ให้ความสำคัญในการป้องกันความเสี่ยง   ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอี ยังให้ ความสนใจในเรื่องดังกล่าวน้อยมาก ดังนั้นจึงแนะให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยง

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้น จากนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐผ่านการลงทุนมีความชัดเจน   จึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มียอดขอลงทุนเกินเป้าหมาย

 



นายสุวิชญ โรจนวานิช  ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าจากพื้นฐานเศรษฐกิจเข้มแข็ง เพราะเงินทุนไหลเข้า ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จับตาดูแลอย่างใกล้ชิด จึงไม่น่าเป็นห่วง 

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า  เงินบาทแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีเข้าใกล้ ระดับ 32.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับ ที่แข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 3 ปี สอดคล้องกับ ทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค  ขณะที่ เงินดอลลาร์ ยังคงไร้ปัจจัยสนับสนุนที่มี นัยสำคัญ แม้ว่าปีนี้จะเป็นปีที่ธนาคารกลาง สหรัฐฯ (เฟด) ยังคงทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นท่าทีที่แตกต่างไปจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยซึ่งมีโอกาสทรงตัวที่ระดับ 1.50% ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 2561
          
โดยภาพดังกล่าวสะท้อนว่า  ความผันผวนของทิศทางค่าเงินบาทท่ามกลางความไม่แน่นอนของหลายๆ ปัจจัยในต่างประเทศ  จะยังคงเป็นสถานการณ์ที่ต้อง ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องในปีนี้   เพราะต้องยอมรับว่า การที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของสหรัฐฯ จะกลับขึ้นไปอยู่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย   อาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในปีนี้  แต่คงจะต้องจับตาปัจจัยอื่นๆ ในระหว่างปีด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะแรงหนุนเงินบาทจากยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ความไม่แน่นอนของ "จังหวะเวลา" ไม่ใช่ "จำนวนครั้ง" ของการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด รวมทั้งความผันแปรของประเด็นทาง การเมืองภายในและระหว่างประเทศ ของสหรัฐฯ
          
ดังนั้นการเลือกใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง (อาทิ สัญญาฟอร์เวิร์ด ออปชั่น และการเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ) ที่เหมาะสม   อาจช่วยให้ภาคธุรกิจที่มีส่วน เกี่ยวข้องกับธุรกรรมระหว่างประเทศ สามารถจัดการกับกระแสรายรับและบริหารต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ ที่ผันผวนของค่าเงินบาทในปีนี้ที่อาจมีภาพที่ไม่แตกต่างไปจากปีที่ผ่านมา


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ม.ค. 2561 เวลา : 10:26:17
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 3:27 am