การค้า-อุตสาหกรรม
พาณิชย์' ต่อยอดโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ จับมือ ธกส. ให้สินเชื่อเกษตรกรที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐฯ


กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าต่อยอดโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ สร้างงาน...สร้างอาชีพให้เกษตรกรที่ลงทะเบียนผ่านโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ สร้างความมั่นคงในชีวิต ล่าสุด จับมือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ให้สินเชื่อพิเศษ ผ่าน ‘โครงการ 100 แฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อเกษตรกร’ เฟสแรก...เตรียมให้สินเชื่อเกษตรกรที่สนใจจะประกอบอาชีพอื่น หรือทำอาชีพเสริมหลังการทำนา

 

 

 

            นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) ให้ความสำคัญต่อการยกระดับผู้มีรายได้น้อยให้ก้าวพ้นเส้นความยากจน และมีความเป็นอยู่ในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น จึงได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งเดินหน้าต่อยอดโครงการสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะการสร้างงาน...สร้างอาชีพ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถดำรงชีพได้อย่างมั่นคงถาวร ผ่านโครงการพัฒนาธุรกิจสำหรับเศรษฐกิจฐานรากของกระทรวงพาณิชย์

            “ล่าสุด กรมฯ ได้จับมือกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ให้สินเชื่อโดยไม่คิดดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก แก่เกษตรกรที่ลงทะเบียนผ่านโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนทั้งสิ้น 3.9 ล้านคน แบ่งเป็นเกษตรกร จำนวน 3.3 ล้านคน และผู้รับจ้างภาคเกษตร จำนวน 6 แสนคน จะเห็นได้ว่าเกษตรกรที่ลงทะเบียนผ่าน ธกส. จะประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ซึ่งเมื่อหมดฤดูกาลทำการเกษตร มักจะเดินทางเข้าเมืองใหญ่เพื่อหารายได้เสริมโดยการประกอบอาชีพด้านต่างๆ ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือและส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้รับจ้างภาคเกษตรที่มีรายได้น้อยมีอาชีพเสริม/มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และไม่ต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ รวมทั้ง เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ กรมฯ และ ธกส. จึงได้จัด โครงการ 100 แฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อเกษตรกร ขึ้น ซึ่งจะดำเนินการครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

 “กรมฯ จะคัดเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการพัฒนาจากกรมฯ และมีคุณภาพ ให้ ธกส.พิจารณา เพื่อให้เข้าร่วมโครงการฯ โดยกรมฯ จะจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรที่ต้องการมีอาชีพเสริมโดยการซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ เช่น การให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ การเลือกซื้อแฟรนไชส์อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ การจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายแบบง่าย หลักการบริหารธุรกิจเพื่อให้กิจการอยู่รอด ฯลฯ เป็นต้น ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่ง่ายต่อการเริ่มต้นธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ มีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนด้วยตนเอง และที่สำคัญ คือ มีแฟรนไชส์ซอร์ช่วยคิดวางแผนธุรกิจและการเงินให้โดยไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกเอง ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีอัตราความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำ ดังนั้น โอกาสที่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จะประสบความสำเร็จจึงมีความเป็นไปได้สูง

            อธิบดีกล่าวเพิ่มเติมว่า “แฟรนไชส์ที่เข้าร่วมโครงการฯ จะเป็นแฟรนไชส์ที่มีขนาดไม่ใหญ่ ผ่านการพัฒนาจากกรมฯ และเป็นธุรกิจง่ายๆ ที่เกษตรกรสามารถใช้ประกอบเป็นอาชีพได้ทันที เช่น อาหารและเครื่องดื่มประเภทต่างๆ เป็นต้น โดยแฟรนไชส์ดังกล่าวฯ จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรตลอดระยะเวลาที่ประกอบธุรกิจ ซึ่งจะสามารถลดความเสี่ยงต่อความล้มเหลวในการประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน ดังนั้น การมีพี่เลี้ยงจะช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้ตลอดรอดฝั่ง รวมถึงสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ ในการก้าวเข้าสู่การมีอาชีพอย่างเต็มตัว

            “โดยในเฟสแรกนี้ ธกส. ได้เตรียมวงเงินเพื่อให้สินเชื่อส่วนบุคคลรายย่อยแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ ธกส.กำลังกำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดในการให้สินเชื่ออยู่... ซึ่งเกษตรกรจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในครั้งนี้ได้ไม่ยาก เบื้องต้น...คาดว่า จะสามารถสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรประมาณ 10,000 ราย และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ราว 1,000 ล้านบาท

            “มั่นใจว่า โครงการ 100 แฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อเกษตรกร นี้ จะสามารถยกระดับผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยภาคการเกษตรให้มีอาชีพเสริมที่มั่นคงถาวร มีรายได้เสริมและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้ง จะเป็นการสร้างโอกาสที่ดีในการก้าวเข้าสู่แวดวงธุรกิจ ซึ่งจะทำให้การดำรงชีพในระยะยาวของเกษตรกรมีความยั่งยืนมากขึ้น สามารถสร้างความเข้มแข็งต่อระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศในระยะยาวอีกด้วยอธิบดีกล่าวทิ้งท้าย


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ม.ค. 2561 เวลา : 11:34:48
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 12:27 am