การตลาด
สกู๊ป 'เอ็นไวโรเซล' ชี้ 5 เทรนด์เปลี่ยนผู้บริโภคแนะนักการตลาดใช้ 'เทคโนโลยี' รับมือ


ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีถือว่าเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของคนเราค่อนข้างมาก การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนวิถีในการดำเนินชีวิตต่างออกไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการปฏิสัมพันธ์ การสื่อสาร ความเชื่อ วิธีการซื้อของ หรือการอยู่ร่วมกันในสังคม  ซึ่งจากเดิมผู้บริโภคจะอยู่ในสังคมที่มีการติดต่อสื่อสารปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคที่เป็นมนุษย์  แต่ปัจจุบันผู้บริโภคมีการเปลี่ยนพฤติกรรมหันไปอยู่ในสังคมแห่งเทคโนโลยี  และมีการติดต่อสื่อปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีหรือหุ่นยนต์มากขึ้น  

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้นักการตลาดต่างต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการสื่อสาร และเครื่องมือทางการตลาดต่างๆ ต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดและถูกต้อง  เพื่อให้การทำตลาดที่สื่อสารไปยังผู้บริโภคประสบความสำเร็จในด้านของยอดขาย   

ด้วยเหตุนี้ บริษัท เอ็นไวโรเซล ประเทศไทย จำกัด บริษัทในเครือของบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ผู้ทำการวิจัยและศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค  จึงได้มีการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันอย่างใกล้ชิด  จนทำให้เห็น 5 เทรนด์หลัก ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์ ปี 2018  หรือปี 2561 นี้ว่า นักการตลาดควรจะปรับตัวอย่างไร  เพื่อตามผู้บริโภคในยุคดิจิทัลนี้ให้ทัน

 

 

.. สรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโรเซล ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า 5 เทรนด์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคปี 2018 ที่นักการตลาดต้องปรับกลยุทธ์ และวิธีการสื่อสารกับผู้บริโภคยุคใหม่ แทนที่นิยามส่วนผสมทางการตลาด หรือ Marketing Mix ซึ่งจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป ประกอบด้วย 1.ผู้บริโภคจะพึ่งพาการปฎิสัมพันธ์ กับ เทคโนโลยี โดยไม่ต้องอาศัย มนุษย์ (From Human Touch to Human Less) เนื่องจากการลดต้นทุน ปัญหาตลาดแรงงาน และการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากกว่าของเทคโนโลยี ทำให้หลายบริษัทหันมาใช้เทคโนโลยีทำงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ แอพลิเคชั่น หรือโดรน 

ปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเจอพนักงานที่ให้บริการ และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น  ซูเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่นที่ไม่มีพนักงาน ได้ใช้เทคโนโลยีในการสแกนสินค้า เก็บตังค์ และนำของใส่ถุงให้ผู้บริโภค โดยอัตโนมัติ หรือ สนามบินสิงคโปร์ Terminal T4 ที่ไม่ใช้พนักงานทำงานแล้ว ผู้โดยสารทำเองหมด ตั้งแต่โหลดกระเป๋าใหญ่เพื่อใส่ท้องเครื่อง สแกนพาสปอร์ต เอ็กซ์เรย์กระเป๋าติดตัว ขึ้นเครื่อง ทุกอย่างใช้ Machine ทั้งหมด  สิ่งดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคจะคุ้นเคยกับการ Self service มากขึ้น และชอบที่จะ Control ทุกอย่างด้วยตัวเองมากขึ้น 

เทรนด์ที่ 2 คือ ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนจากการเชื่อโฆษณา เชื่อรีวิว การบอกต่อ มาเชื่อผู้ช่วยอัจริยะแทน (From Word of Mouth to Word of Mouse) พฤติกรรมผู้บริโภคทุกวันนี้ ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ดูจะ Monitor ตัวเองทุกอย่าง ไม่ว่าจะเดิน กี่ก้าว หลับลึกกี่ชั่วโมง ทำให้ผู้บริโภคเริ่มคุ้นเคยกับการหันมาเชื่อเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะพัฒนาการของเทคโนโลยีที่มีความฉลาด เก็บข้อมูลได้อย่างแม่นยำ และ Real time อย่างที่สมองมนุษย์ทั่วไปประมวลผลไม่ได้ 

 

 

เทรนด์ที่ 3 ผู้บริโภคเปลี่ยนความเชื่อชอบ Engage กับ Game Content  งานที่ท้าทายของการโฆษณา (From Plain to Play Content) เมื่อวิถีความเชื่อของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โฆษณาก็ยากที่จะ Engage ผู้บริโภคได้ ถ้าสังเกตคนรอบตัวให้ดีจะพบว่าคนที่เล่นมือถือส่วนใหญ่นั้น ไม่เล่น Facebook  ช้อปปิ้ง  หรือแชท ก็เล่นเกมส์! สถิติการเล่นเกมส์ผ่านมือถือของผู้บริโภคนั้น เติบโตเฉลี่ยประมาณ 15% ต่อปี โดยปัจจุบันคนไทยมีผู้เล่นเกมส์ประมาณ 20 ล้านคน ส่วนใหญ่เล่นผ่านมือถือ โดยใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 3 ชม. ต่อวัน 

จากพฤติกรรมดังกล่าวทำให้หลายบริษัทหันมาสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านเกมส์  เพื่อทำให้ผู้บริโภคสนุก และ(ผูกพัน) Engage กับแบรนด์มากกว่าการโฆษณาที่ผู้บริโภครู้สึกถูกยัดเยียด โดยแบรนด์ที่พัฒนาเกมส์ Content ได้อย่างชาญฉลาด คือ ไนกี้ ออกแอพพลิเคชั่น ชื่อว่า ไนกี้ Challenge โดยผู้เล่นสามารถอวดเพื่อนได้ว่าวันนี้วิ่งไปเท่าไร และ Challenge เพื่อนให้มาแข่งกันได้ เป็นการเล่นเกมส์ โดย Engage แบรนด์ไนกี้เข้ามาในเกมส์อย่างแนบเนียน เป็นต้น

ในส่วนของเทรนด์ที่ 4 ผู้บริโภค เป็นทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย ได้ทุกที่ ทุกเวลา เน้นประสบการณ์ที่สด และจริง (From Store to Stream) เมื่อวิถีการซื้อขายเปิดกว้างให้ผู้บริโภคเป็นทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย ได้ทุกที่ทุกเวลา รวมทั้งถ่ายทอดสดได้ Product display ก็ไม่ได้จำกัดที่ร้าน และวิธีการขาย ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการโชว์สินค้านิ่งๆ อีกต่อไป เวทีแฟชั่นโชว์ บ้าน หรือที่สวนผลไม้ ต่างเป็นที่ Display สินค้าได้ ตราบใดที่สามารถให้ประสบการณ์ที่ สด จริง แก่ผู้บริโภคได้ เช่น IKEA มีแอพพลิเคชั่นให้ผู้บริโภค นำสินค้าหลายแบบมาลองวางในห้อง ซึ่งผู้บริโภคได้ประสบการณ์สดว่าห้องจะดูอย่างไรกับเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อ หรือเคาน์เตอร์เครื่องสำอางอย่าง Yves Saint Laurent ใช้ AR เพื่อสแกนหน้าลูกค้า ให้ลองเครื่องสำอางได้หลายๆ แบบ เป็นต้น

เทรนด์สุดท้าย เทรนด์ที่ 5 ผู้บริโภค Socialize เทคโนโลยีผ่านหน้าจอ และ Digital Human มากขึ้น (From Actual to Virtual) เมื่อผู้บริโภคคุ้นเคยกับแอพพลิเคชั่น กับการเชื่อเทคโนโลยีมากขึ้น Self service มากขึ้น การ Socialize ระหว่างมนุษย์แบบตัวต่อตัวน้อยลง มนุษย์จะหันไป Socialize ผ่านหน้าจอ และกับ Digital Human มากขึ้น ผู้บริโภคคุ้นเคยกับการ Message และ Social network อยู่แล้ว ไม่ว่าจะส่วนตัว หรือสำหรับธุรกิจ Messaging app มี Active users 3,000 ล้านคนต่อเดือน และ Social network 2,700 ล้านคนต่อเดือน 

 

 

ในอนาคตอันใกล้คาดการณ์กันว่า ผู้บริโภคจะหันไป Social กับ Chatbot มากขึ้น เพราะสามารถตอบโต้กับผู้บริโภคได้ และให้ความช่วยเหลือได้ด้วย Chatbot คาดการณ์การเติบโตประมาณ 24% จนถึงปี 2025 หรือประมาณปี 2568 โดย 57% ของผู้บริโภคชอบ Chatbot ในการช่วยเหลือ และบริการข้างต้น เช่น Domino pizza ให้บริการการสั่งซื้อผ่าน Chatbot ได้เลย 

..สรินพร กล่าวว่า  การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้นักการตลาดต้องเปลี่ยนวิธีในการเข้าถึงผู้บริโภคในรูปแบบใหม่ เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น นักการตลาดจึงต้องให้ความสำคัญกับพฤติกรรม และกิจกรรมของผู้บริโภค และเลือกลงทุนกับเทคโนโลยีที่เป็น สมองกลเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแบบปัจเจกบุคคลได้อย่างสูงสุด เช่น  ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หุ่นยนต์ (Robotics) เทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality) ซึ่งจะกลายเป็นการเข้าถึงข้อมูลหรือ Touch point ที่สำคัญของผู้บริโภค รวมถึงเป็นเครื่องมือในการสร้างผลิตภัณฑ์ บริการรูปแบบใหม่ๆ จำนวนมากในอนาคต


LastUpdate 18/01/2561 00:45:17 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 5:05 am