การค้า-อุตสาหกรรม
กรมเจรจาฯ เร่งผู้ส่งออกไทยใช้โอกาสทองจาก FTA อาเซียน-จีน


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดี รักษาราชการอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-จีน มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนรวมทั้งไทยและจีนต่างได้ทยอยลดและยกเลิกภาษีระหว่างกันมาเป็นลำดับ และล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นการลดภาษีศุลกากรของสินค้าล๊อตสุดท้าย ทั้งสองประเทศจะต้องลดภาษีศุลกากรลงเหลือร้อยละ 0-5 ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้ใช้โอกาสที่จีนลดภาษีภายใต้ FTA ให้ไทย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เชิญภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมแจ้งข้อมูล และขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลให้ภาคเอกชนและผู้ส่งออกของไทย ได้ใช้ประโยชน์จากโอกาสดังกล่าว

 

 

นางอรมน เสริมว่า ในช่วงที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้วิเคราะห์ข้อมูลการลดภาษีภายใต้ FTA อาเซียน-จีน พบว่ารายการสินค้าล๊อตสุดท้ายที่จีนจะต้องลดภาษีให้ไทยเหลือร้อยละ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 มีประมาณ 286 รายการ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีภาษีเดิมอยู่ที่ร้อยละ 15-20 ได้แก่ กาแฟ พริกไทย ข้าวหัก แป้งข้าวเจ้า ลำไยและสับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด น้ำมะพร้าว ยาสูบ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถบรรทุกดีเซล ซึ่งมีหลายรายการเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพส่งออก เช่น ลำไยกระป๋อง ไทยครองส่วนแบ่งตลาดในจีนเกือบร้อยละ 100 โดยจีนนำเข้าจากไทยเฉลี่ย 3 ปีที่ผ่านมา (2557-2559) มูลค่า 50,000 เหรียญสหรัฐ โดยสินค้าสับปะรดกระป๋อง/แปรรูป/น้ำสับปะรด จีนนำเข้าจากไทยเฉลี่ย 3 ปีที่ผ่านมา (2557-2559) มูลค่า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 38 ของมูลค่าการค้าที่จีนนำเข้าจากโลก ขณะที่น้ำมะพร้าว จีนนำเข้าจากไทยเฉลี่ย 3 ปีที่ผ่านมา (2557-2559) มูลค่า 2.80 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 15.67 ของมูลค่าการค้าที่จีนนำเข้าจากโลก และแป้งข้าวเจ้าไทย มีส่วนแบ่งตลาดในจีนถึงร้อยละ 99 โดยจีนนำเข้าจากไทยเฉลี่ย 3 ปี (2557-2559) มูลค่า 23.54 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น ดังนั้น ไทยน่าจะใช้โอกาสขยายการส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปจีนได้ 

นอกจากนี้ ในส่วนสินค้าที่ไทยและจีนเก็บภาษีเป็นศูนย์แล้วตั้งแต่ปี 2553 มีบางรายการที่ไทยและจีนยังมีการค้าระหว่างกันน้อย ทั้งๆที่เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออก อาทิ ปลาและกุ้งแช่แข็ง ไทยครองส่วนแบ่งการตลาดการนำเข้าของจีนเพียงร้อยละ 12 หรือเฉลี่ย 3 ปี (2557-2559) มูลค่า 38 ล้านเหรียญสหรัฐ ขนมหวานที่ทำจากน้ำตาล เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ครองส่วนแบ่งการนำเข้าของจีนร้อยละ 10 หรือมูลค่าเฉลี่ย 3 ปี (2557-2559) 10.19 ล้านเหรียญสหรัฐ ผัก/ผลไม้แปรรูป ไทยครองส่วนแบ่งตลาดนำเข้าของจีนร้อยละ 30 หรือมูลค่าเฉลี่ย 3 ปี (2557-2559) 36 ล้านเหรียญสหรัฐ ซอสปรุงรส ครองส่วนแบ่งการตลาดนำเข้าร้อยละ 13 หรือมูลค่าเฉลี่ย 3 ปี (2557-2559) 12.6 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงขอให้ภาคเอกชนเร่งใช้ประโยชน์จากการลดภาษีดังกล่าว

สำหรับสินค้าข้าว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางสาวชุติมา บุณยประภัศร) ได้ติดตามกับรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์ของจีน ในการประชุมเตรียมการสำหรับประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้าการลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทยจีน (JC) ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2561 โดยได้ขอให้จีนเร่งส่งผู้แทนสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคของจีน (AQSIQ) มาตรวจสอบโรงงานผลิตและแปรรูปข้าวไทยที่ส่งออกโดยเร็ว เพื่อให้ไทยสามารถขยายการส่งออกสินค้าข้าวไปจีนได้เพิ่มขึ้น

จากการวิเคราะห์ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พบว่าในส่วนของสินค้าอุตสาหกรรม ไทยมีสินค้าที่มีศักยภาพ เช่น ชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ แผงวงจร อุปกรณ์เลเซอร์ เคมีอินทรีย์ ส่วนประกอบโทรศัพท์ หน่วยเก็บความจำ ส่วนประกอบเครื่องจักร และพลอยเนื้ออ่อน เป็นต้น ซึ่งจีนลดภาษีเหลือร้อยละ 5 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 ยังครองสัดส่วนในตลาดจีนต่ำ ประมาณร้อยละ 1-10 จึงขอให้ภาคเอกชนเร่งใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ ในกลุ่มสินค้าที่จีนมีสถิติการนำเข้าจากทั้งโลกสูง แต่ไทยยังไม่เคยมีการส่งออกไปจีน เช่น สินค้าเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ โทรทัศน์ รถบัสโดยสารขนาดกลางและใหญ่ เป็นต้น โดยขณะนี้จีนลดภาษีให้ไทยลงมาเหลือร้อยละ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 แล้ว

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมหน่วยงานภาครัฐและเอกชนข้างต้น เห็นควรให้เร่งประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ชาวจีนรู้จักผลไม้ และข้าวชนิดต่างๆ ของไทย รวมทั้งสินค้าสุขภาพซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในตลาดจีน ทั้งนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ประสานกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแล้ว รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก การจับคู่ธุรกิจ การประชาสัมพันธ์เตือนให้ผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งสินค้าไปจีน ยื่นจดเครื่องหมายการค้าในจีนก่อนส่งออก ซึ่งปัจจุบันสะดวกมากขึ้น เนื่องจากไทยเป็นภาคีพิธีสารมาดริด เรื่องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ โดยสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้แล้ว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยที่สนใจสามารถค้นหาข้อมูลการลดภาษีศุลกากรในกรอบความตกลงอาเซียน-จีน จากเว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ http://tax.dtn.go.th/

นางอรมน เสริมว่า สำหรับกรณีที่ผู้ประกอบการมีข้อกังวลว่าการลดภาษีภายใต้ FTA อาเซียนจีน ของไทย จะทำให้มีสินค้าราคาถูกจากจีนทะลักเข้าไทยนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายจากการนำเข้าสินค้าจากจีน สามารถติดต่อกระทรวงพาณิชย์ (กรมการค้าต่างประเทศ) เพื่อขอใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measures: SG) ได้ ขณะเดียวกันกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ก็จะหารือกับภาคเอกชนเป็นระยะเพื่อติดตามผลการเปิดตลาดต่อไป

ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยจีนเป็นตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย ในขณะที่ไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 15 และแหล่งนำเข้าลำดับที่ 10 ของจีน ในปี 2559 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 65.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2560 (..-..) การค้ารวมระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 67 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ และผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น ไทยและจีนได้ตั้งเป้าหมายการค้าสองฝ่ายให้มีการขยายตัวเป็นสองเท่า หรือ 120 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2563 ด้านการลงทุน จีนเป็นนักลงทุนทางตรงอันดับที่ 3ของไทย ในปี 2560 (มกราคม-กันยายน) นักลงทุนจีน เข้ามาลงทุนในไทยมีมูลค่า 385 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการท่องเที่ยว ในปีที่ผ่านมา มีชาวจีนเดินทางมาประเทศไทย 9.8 ล้านคน


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ม.ค. 2561 เวลา : 17:09:37
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 9:32 pm