เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
อีไอซีชี้ส่งออกอิเล็กฯ ยังไปไหว หลังสหรัฐฯ ประกาศมาตรการ safeguard


 ประธานาธิบดีทรัมป์อนุมัติมาตรการ safeguard เก็บภาษีการนำเข้าเครื่องซักผ้าและแผงโซล่าร์เพื่อปกป้องผู้ผลิตสหรัฐฯ สืบเนื่องจากที่คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ (USITC) ยื่นข้อเสนอเยียวยาการค้าที่ไม่เป็นธรรม (unfair trade practices) ตามมาตรา 201 กฎหมายการค้าสหรัฐฯ ซึ่งทรัมป์ได้เซ็นอนุมัติมาตรการดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2018 โดยมาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 3-4 ปี ทั้งนี้ สำหรับเครื่องซักผ้า การคิดภาษีจะแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยเครื่องซักผ้าจำนวน 1.2 ล้านเครื่องแรกที่มีการนำเข้าจะคิดภาษี 20%  แต่ในส่วนที่เกินจากนี้ จะเก็บภาษีเพิ่มเป็น 50% สำหรับแผงโซล่าร์จะเริ่มเก็บภาษีนำเข้า 30% หากมีการนำเข้าเกิน 2.5 กิกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีในปีถัดไปของสินค้าทั้ง 2 ชนิดจะลดลงปีละ 2-5%

 

 

 

อีไอซีมองว่าการเติบโตของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยจะลดลงประมาณ1% เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักของการส่งออกสินค้าทั้ง 2 ชนิด โดยผลของมาตรการดังกล่าวจะทำให้มูลค่าการส่งออกเครื่องซักผ้าและแผงโซล่าร์ลดลงราว 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และราว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกเครื่องซักผ้าจะอยู่ที่ราว 1.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และแผงโซล่าร์จะอยู่ที่ราว1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2018

ผู้ผลิตเครื่องซักผ้าและแผงโซล่าร์ในไทยต่างปรับตัวเพื่อรองรับมาตรการ safeguard แล้ว โดยผู้ผลิตเครื่องซักผ้าจากต่างประเทศซึ่งมีฐานการผลิตในไทยอย่าง Samsung และ LG ได้เปิดโรงงานใหม่ที่รัฐ South Carolina และอยู่ระหว่างสร้างโรงงานที่รัฐTennessee ตามลำดับ สำหรับผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเครื่องซักผ้า คาดว่าจะได้รับผลกระทบเพียงบางส่วน เนื่องจากมีเวลาปรับตัวจากการได้รับแจ้งล่วงหน้า ในทำนองเดียวกัน ผู้ส่งออกแผงโซล่าร์ได้กระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก ไปยังตลาดอื่นๆ เช่น เนเธอร์แลนด์ ตุรกี เม็กซิโก สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกปี 2017 ในตลาดดังกล่าว มีการขยายตัวมากกว่าเท่าตัว

อีไอซีแนะติดตามการยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก(WTO) ของรัฐบาลจีนและเกาหลีใต้ ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้มาตรการ safeguard เนื่องจากมาตรการดังกล่าวเป็นการละเมิดข้อตกลงของ WTO ด้านการค้าเสรี อย่างไรก็ดี คำตัดสินจาก WTO อาจไม่สามารถบังคับให้สหรัฐฯ ปฏิบัติตามได้โดยทันที ดังเช่น ในปี 2013 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ยื่นฟ้องสหรัฐฯ จากการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเครื่องซักผ้าจากเกาหลีใต้ โดยแม้ว่าWTO ตัดสินให้เกาหลีใต้ชนะคดีดังกล่าวตั้งแต่ปี 2013 แต่ทางสหรัฐฯ ได้ปฏิบัติตามคำตัดสินในต้นปี 2018

สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับสินค้าอื่นๆ เพื่อเป็นการปกป้องผู้ผลิตสหรัฐฯ ตามนโยบาย“American First” โดยขณะนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการภาษีนำเข้าสินค้าต่างๆ เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ม.ค. 2561 เวลา : 10:30:07
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:43 pm