กองทุนรวม
บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดแผนปี 61 มุ่งเป้าเป็นบลจ.ที่ 1 ในใจลูกค้า


นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 2561 ว่า บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการเป็นบลจ.ที่ 1 ในใจลูกค้า หรือ The Most Admired Asset Management โดยการออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและทันสมัยตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งกองทุนประเภทกลุ่ม Income ที่สร้างรายได้ระหว่างทาง รวมถึงรูปแบบการลงทุนต่างประเทศที่ครบวงจร โดยจะเป็นการนำเสนอกองทุนหุ้นต่างประเทศที่บริหารจัดการแบบ Active อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกเสริมจากกองทุนปัจจุบันที่บริหารจัดการแบบ Passive   

 

 

บริษัทฯ ยังเน้นการรักษาระดับผลตอบแทนจากการลงทุนถึงลูกค้าให้อยู่ในระดับที่ดีและมุ่งเน้นที่จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมามีกองทุนที่ประสบความสำเร็จหลายกองทุน อาทิ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุนปันผล (SCBDV) มีผลตอบแทนปี 2560 อยู่ที่ 23.20% และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุน Mid/Small Cap (SCBMSE) ที่มีผลตอบแทนในปี 2560  อยู่ที่ 21.50% ส่วนกองทุนต่างประเทศ ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นโกลบอลเฮลธ์แคร์  (SCBGHC) มีผลตอบแทนในปี 2560  อยู่ที่ 18.27% กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลสตราทีจิก อินเวสเมนท์ (SCBGSIF) มีผลตอบแทนปี 2560 อยู่ที่ 4.69% (ที่มา : SCBAM  วันที่ 29 ธันวาคม 2560)  

นอกจากนี้ยังมี กองทุนหุ้นไทยและต่างประเทศที่มีผลงานโดดเด่นจนได้รับการจัดอันดับ 5 ดาวจาก Morning Star ในปีที่ผ่านมา คือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุนปันผล (SCBDV) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ซีเล็คท์ อิควิตี้ (SCBSE) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นเกาหลี (SCBKEQTG) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส (SCBS&P500) และ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุน Mid/Small Cap  (SCBMSE) รวมทั้งยังประสบความสำเร็จจากกองทุนที่เกี่ยวกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีหรือดิจิทัล อาทิ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลบอลดิจิตอล(SCBDIGI)  กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลโรโบติกส์ (SCBROBO) ที่มีผลการดำเนินงานที่ดี และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์  Machine Learning ที่ใช้ Machine เข้ามาบริหารกองทุนแทนคนเป็นกองแรกของประเทศ จึงมีกระแสการตอบรับจากนักลงทุนอย่างมากนายสมิทธ์กล่าว

สำหรับนโยบายด้านการให้บริการในปี 2561 นี้ จะเน้นการพัฒนา Digital Platform และเทคโนโลยีรองรับการทำธุรกรรมในยุคดิจิทัล เพื่อตอบสนองนักลงทุนที่นิยมใช้เทคโนโลยีในการรับข้อมูลข่าวสารและการทำธุรกรรม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่มุ่งไปสู่การที่จะเป็นกลุ่มสถาบันการเงินที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลเป็นหลัก อาทิ มีการให้ข้อมูลข่าวสารผ่าน Social Media Platform ทั้ง SCBAM Website, Investment Guru ต่าง  อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจะมีการให้เปิดบัญชีซื้อขายกองทุนครั้งแรกด้วย SCB EASY Application (online account)  และการให้บริการ Investment Advisory ผ่านมือถือ  รวมทั้งการให้บริการ SCB Connect (Chatbot) และการเปิดตัวSCBAM Line@ เพื่อเป็นช่องทางรับข้อมูลข่าวสารการลงทุน สภาวะตลาด ข้อมูลกองทุน และการจัดสรรสัดส่วนการลงทุน รวมถึงสาระการลงทุนที่น่าสนใจและน่าติดตาม ซึ่งจะทำให้เรื่องการลงทุนเป็นเรื่องง่ายเข้าถึงผู้ลงทุนได้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ลงทุนยุคดิจิทัล ตลอดจนการปรับปรุงระบบสนับสนุนการลงทุนต่าง ให้มีประสิทธิภาพและมีความทันสมัยมากขึ้น 

ทั้งนี้ ในปี 2560  บลจ.ไทยพาณิชย์มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ (AUM)   วันที่ 29 ธันวาคม 2560 รวม 1,374,936 ล้านบาท เป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรม ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 19.8% เติบโตจากปี 2559 คิดเป็นอัตรา 5.2% ที่มี AUM รวม 1,307,408 ล้านบาท  กองทุนของบลจ.ไทยพาณิชย์ มีการเติบโตมากที่สุดในกลุ่มธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) โดยมี AUM  สิ้นปี 2560 สูงถึง 364,376 ล้านบาท เติบโต 12.1% จากสิ้นปี 2559 ทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 43.3% และยังครองอันดับ 1 อย่างต่อเนื่องจากปี  2557

ส่วนธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) มี AUM  สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 113,319 ล้านบาท  และธุรกิจกองทุนรวม (Mutual Fund)  มี AUM  สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 879,241 ล้านบาท ซึ่งรวมกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) มูลค่ารวม 89,920 ล้านบาท และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) 55,463 ล้านบาท (ที่มา : สมาคมบริษัทจัดการลงทุน วันที่ 29 ธันวาคม 2560)

 

 

ด้าน นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมการลงทุนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการลงทุนใหม่ๆ หรือ การลงทุนแบบ Thematic Investment ซึ่งแตกต่างจากการลงทุนทั่วไป คือจะวิเคราะห์แนวโน้มที่เกิดขึ้นในอนาคต เช่น Theme การลงทุนจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรโลก (Global Demographics)  ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในอีก 50 ปี ข้างหน้าซึ่งทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภค สินค้าอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมการแพทย์มีแนวโน้มการเติบโตในอนาคต Theme การลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ (Robotics) ที่ภาคอุตสาหกรรมต่าง นำมาใช้ทดแทนปัญหาการขาดแคลนแรงงาน  และ Theme การลงทุนที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากคือการเติบโตของการใช้งานเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในวิถีการใช้ชีวิตของคน   

สำหรับการลงทุนในปี 2561 บลจ.ไทยพาณิชย์มองว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักทั้งสหรัฐฯ ยูโรโซน และ ญี่ปุ่น จะได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากตลาดแรงงาน และการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง รวมถึงการฟื้นตัวของการค้าโลกในภาพรวม อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่ขยายตัวแข็งแกร่งเริ่มกดดันให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลาง เช่น สหรัฐฯ และจีน เริ่มส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้นตามลำดับ โดยจะเห็นได้จากการเริ่มปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น และการส่งสัญญาณการปรับลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ  (FED) นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังในปีนี้คือ การดำเนินนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลด QE และการเมืองในยุโรป และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค และการลงทุน รวมถึงอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดเงินระหว่างประเทศได้ในระยะต่อไป

 

 

เรามีมุมมองที่เป็นบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดีขึ้น สนับสนุนผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน อย่างไรก็ตาม แนะนำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาจทำให้ FED ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์  ส่วนตลาดหุ้นไทย ได้รับปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจและสภาพคล่อง เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีการกระจายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่กระจุกตัวในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากอุปสงค์ภายนอกผ่านการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยในปี 2561 คาดว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนในภาคเอกชนจะเป็นปัจจัยกระตุ้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน  ขณะที่ต้นทุนทางการเงิน (อัตราดอกเบี้ย) ยังอยู่ในระดับต่ำตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตลอดจนมูลค่าพื้นฐานตลาดหุ้นไทย (Valuation) เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นภูมิภาคยังไม่สูง  ซึ่งคาดว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยหนุน SET Index ให้ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น นายณรงค์ศักดิ์กล่าว


LastUpdate 22/02/2561 14:27:53 โดย : Admin
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 11:36 pm