ไอที
ธุรกิจทีวีดิจิทัลยังน่าห่วง


การเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกไปสู่ทีวีดิจิทัล   ยังสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   แม้ภาครัฐและเอกชนจะพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น  แต่ก็ไม่สามารถต้านทานกระแสการดูทีวีผ่านสื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นได้  

 


 

นายโชคชัย   ปัญจรุ่งโรจน์   กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น ผู้บริหารช่องอมรินทร์ทีวี กล่าวว่า   ภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจทีวีดิจิทัลปีนี้ยังคงรุนแรงเหมือนกับที่ผ่านมา และคาดว่าจะฝุ่นตลบไปอีก 3 ปี จากการแข่งที่รุนแรง และต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น  หากช่องไหนมีสายป่านที่ไม่ยาวพออาจต้องหาผู้ร่วมทุนเข้ามาช่วยเหลือในด้านการเงิน ส่วนใครที่ไม่สามารถหาผู้ร่วมทุนเข้ามาช่วยเหลือได้ อาจยื้อการทำธุรกิจได้อีกระยะ

ซึ่งผลกระทบที่รุนแรงคาดว่าจะทำให้เหลือผู้เล่นในตลาดไม่เกิน 12 ช่อง  แม้ว่าภาครัฐจะออกมาให้ความช่วยเหลือด้วยการเยียวยาผู้ประกอบการ เพราะปัจจัยดังกล่าวเป็นเพียงการช่วยยื้อเวลาของผู้ประกอบการเท่านั้น

โดยประเภทของช่องที่อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ได้แก่  ช่องข่าว และช่องเด็ก เนื่องจากทั้งสองประเภทถูกควบคุมเนื้อหาด้วยกฎหมาย   อย่างไรก็ดี หากมี การแก้กฎหมายให้สามารถนำเสนอเนื้อหาที่หลากหลายได้  ก็อาจจะไม่เป็นธรรมกับ ผู้ประกอบการที่ประมูลช่องวาไรตี้

 


 

ขณะที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  ยอมรับว่า  รู้สึกห่วงใยกลุ่ม     ทีวีดิจิทัลที่ยังต้องพึ่งพารายได้จากโฆษณา   เพราะสังคมเปลี่ยนไปประชาชนดูทีวีผ่านระบบทีวีโดยตรงน้อยมาก  คนจะหันไปดูยูทูป ดูทีวีในมือถือแทน  และเมื่อเทคโนโลยี 5G เข้ามาจะทำให้มีความเร็ว ความเสถียรมากขึ้น 30-100 เท่า  ส่งผลให้พฤติกรรมการชมทีวีเปลี่ยนแปลงไป  

นายฐากร กล่าวต่อว่า  กรณี .44 เพื่อช่วยเหลือทีวีดิจิทัลนั้น กสทช.ได้เสนอไปยังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีแล้ว  โดยเสนอไปทั้งด้านโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัล โดยในส่วนทีวีดิจิทัลนั้นมี 3 ทางคือ  เปิดทางให้คืนใบอนุญาติ ช่วยชำระโครงสร้างภาคพื้นดิน เสนอในส่วนของพักชำระหนี้ 3 ปี และคิดดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย  ซึ่งขึ้นกับรัฐบาลว่าจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร

ขณะที่บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทยรายงานภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาเดือน มกราคม ที่ผ่านมา มีเม็ดเงินประมาณ 7,429 ล้านบาท ติดลบ 8.51% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีเม็ดเงินประมาณ 8,120 ล้านบาท ถือเป็นการติดลบต่อเนื่องจากเดือน ธันวาคม ปี 2560   ซึ่งเดือนดังกล่าวเม็ดเงินโฆษณาหดตัวติดลบ 8.49%  สำหรับสื่อที่มีเม็ดเงินโฆษณาติดลบมากที่สุด คือ สื่อนิตยสารติดลบที่ 40.88% ตามด้วยสื่อหนังสือพิมพ์ติดลบที่ 31.86% สื่อในอาคารติดลบที่ 25.64% สื่อเคเบิลทีวี/แซตเทลไลต์ทีวีติดลบที่ 23.14%

ด้านสื่อโฆษณาที่มีการเติบโตมากที่สุด คือ สื่อโรงภาพยนตร์เติบโต 31.92% ตามด้วยสื่ออินเทอร์เน็ตเติบโตที่ 15.53% สื่อทีวีดิจิทัลเติบโต 15.23% และสื่อนอกอาคารเติบโต 7.95%


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ก.พ. 2561 เวลา : 10:55:42
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 1:17 pm