การค้า-อุตสาหกรรม
'พาณิชย์' เกาะติดความตกลง CPTPP หลังสมาชิก 11 ประเทศร่วมลงนามความตกลง หวังมีผลใช้จริงภายในปีนี้


กระทรวงพาณิชย์ เผย 11 ประเทศสมาชิก CPTPP (หรือเดิมที่เรียกว่า TPP) ได้ร่วมลงนามความตกลง CPTPP เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 กรุงซานติอาโก ประเทศชิลี เริ่มนับถอยหลังก่อนมีผลบังคับใช้จริง หลังสมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศ (หรือจำนวนเกินกว่าร้อยละ 50 ของสมาชิก) ดำเนินการยื่นสัตยาบันให้การรับรองความตกลงฯ คาดมีผลบังคับใช้ภายในปี 2561 หวังขยายประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันผ่านข้อตกลงการค้าที่มีมาตรฐานสูง แม้ยังไม่มีสหรัฐฯ เข้าร่วมเป็นสมาชิก

 

 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ประเทศสมาชิก “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans- Pacific Partnership – CPTPP) หรือ TPP เดิม 11 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้ร่วมกันลงนามความตกลง CPTPP  ประเทศชิลี ภายหลังจากที่สมาชิกทั้ง 11 ประเทศได้หารือร่วมกันเรื่อยมานับจากที่สหรัฐฯ ได้ถอนตัว เมื่อปี 2560 ซึ่งหลังจากนี้ สมาชิก CPTPP จะเริ่มดำเนินกระบวนการภายในประเทศตามเงื่อนไขของความตกลงฯ ที่กำหนดให้มีผลบังคับใช้ 60 วัน ภายหลังจากที่สมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศ หรือเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนสมาชิก ยื่นสัตยาบันให้การรับรอง CPTPP โดยคาดว่าสมาชิกน่าจะเร่งผลักดันให้ CPTPP มีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2561

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม สมาชิกทั้ง 11 ประเทศได้เห็นชอบหลักการสำคัญของความตกลงฯ และให้เปลี่ยนชื่อจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)” เป็น “ความตกลง ที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)” และได้ประกาศสรุปผลการจัดทำความตกลง CPTPP อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561

 

 

สำหรับสาระสำคัญความตกลง CPTPP ได้นำเอาข้อบทของความตกลง TPP เดิมมาใช้บังคับ โดยชะลอการมีผลบังคับใช้ในบางประเด็นที่สำคัญ อาทิ การขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรอันเกิดจากความล่าช้าอย่างไม่สมเหตุสมผลของหน่วยงานขึ้นทะเบียน การคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา การขยายระยะเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์ (จาก 50 ปี เป็น 70 ปี) และการให้นักลงทุนฟ้องรัฐภายใต้สัญญาการลงทุนที่ทำระหว่างรัฐกับเอกชน เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ผลักดันให้มีการบัญญัติไว้ในความตกลง TPP เดิม

ที่ผ่านมามีประเทศต่างๆ แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพิ่มเติม โดย CPTPP มิได้กำหนดเงื่อนไขในการรับสมาชิกใหม่ว่าจะต้องมีที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเหมือนที่ TPP เคยกำหนดเอาไว้ นอกจากนี้ แม้สหรัฐฯ จะถอนตัวไปเมื่อปี 2560 แต่ก็อาจพิจารณากลับเข้าร่วม CPTPP ได้อีก หากสหรัฐฯ สามารถบรรลุข้อตกลงที่เป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ มากกว่าที่เคยตกลงใน TPP เดิม

นายสนธิรัตน์ กล่าวเสริมว่า ความตกลง CPTPP ถือเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ การลงทุน รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การแข่งขันทางการค้า และรัฐวิสาหกิจ (State-owned-enterprise: SOE) เป็นต้น ซึ่งถือเป็นความตกลงการค้าเสรียุคใหม่ที่มีมาตรฐานสูง กระทรวงพาณิชย์ได้มอบให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศศึกษาติดตามการบังคับใช้ความตกลง CPTPP อย่างใกล้ชิด และหารือรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอความเห็นเพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมของไทยในเรื่องความตกลง CPTPP ต่อไป

ทั้งนี้ ขนาดเศรษฐกิจรวมของ CPTPP 11 ประเทศ ในปี 2560 มี GDP รวมมูลค่า 10.2  ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 13.5 ของ GDP โลก) มีประชากรรวม 495 ล้านคน (ร้อยละ 6.8 ของประชากรโลก) โดยในปี 2560 การค้าระหว่างไทยกับสมาชิก CPTPP 11 ประเทศ มีมูลค่า 134.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 29.3 ของการค้ารวมของไทย) โดยไทยส่งออกไป CPTPP 11 ประเทศ เป็นมูลค่า 70.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 29.7 ของการส่งออกไทยไปโลก) และไทยนำเข้าจาก CPTPP 11 ประเทศ เป็นมูลค่า 64.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ28.9 ของการนำเข้าไทยจากโลก) โดยไทยได้เปรียบดุลการค้ากับ CPTPP 11 ประเทศ เป็นมูลค่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 มี.ค. 2561 เวลา : 17:53:13
18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 11:01 am