การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กรมสุขภาพจิต พัฒนาแอพฯ 'ฮีโร่' เสริมระบบดูแลเด็กประถมกว่า 2 แสนคน ที่มีปัญหาการเรียน


กรมสุขภาพจิต ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลเด็กนักเรียนประถมศึกษาที่มีปัญหาการเรียน          หรือมีพฤติกรรมและอารมณ์ ซึ่งมีราว 2 แสนคนทั่วประเทศ  โดยพัฒนาแอพพลิเคชั่นฮีโร่เป็นช่องทางให้คำปรึกษาเชื่อมต่อการดูแลร่วมกันระหว่างครู -หมอ-พ่อแม่ ผลการพัฒนาโปรแกรมในพื้นที่เป็นเวลา 2 ปี ได้ผลดี เด็กร้อยละ 70 มีพฤติกรรมและอารมณ์กลับเป็นปกติหรือดีขึ้น อีกร้อยละ 30 ส่งตัวเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาต่อเนื่อง เร่งขยายผลใช้ครอบคลุมทุกพื้นที่ 

 

 

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบาย     การพัฒนาสุขภาพจิตกลุ่มเด็กวัยเรียนอายุ 6-12 ปี ซึ่งมี 5 ล้านกว่าคน ร้อยละ 90 อยู่ในระบบการศึกษา ว่า  กรมสุขภาพจิตได้จัดโครงการความร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระดับประถมศึกษา หรือโครงการฮีโร่ (Health and Educational Regional Operation : HERO) เฝ้าระวังนักเรียนที่มีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ หรือมีปัญหาการเรียนเช่นเรียนไม่ทันเพื่อน สอบตกซ้ำชั้น และให้การดูแลช่วยเหลือเด็กร่วมกันระหว่างครูประจำชั้น ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่มีกว่า 20,000 แห่ง กับบุคลากรการแพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชน 851 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กมีทักษะชีวิตและก้าวเข้าสู่วัยรุ่นอย่างมีคุณภาพ ผลการเฝ้าระวังที่ผ่านมา พบเด็กนักเรียนมีปัญหาพฤติกรรมอารมณ์ไม่ต่ำกว่า 200,000 คน โดยครูสามารถให้การดูแลปรับพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมและอารมณ์ดีขึ้น สนใจเรียนเพิ่มขึ้นผลการเรียนมีแนวโน้มดีขึ้น  

ในปีนี้ กรมสุขภาพจิตได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการดูแลและติดตามประเมินผลเด็กที่ป่วยหรือมีปัญหาการเรียนแต่ละคน โดยให้สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ .เชียงใหม่พัฒนาแอพพลิเคชั่นฮีโร่เชื่อมการดูแลเด็กร่วมกันระหว่างผู้ดูแล 3 ฝ่าย คือ ครู หมอ พ่อแม่อย่างต่อเนื่อง และขยายผลใช้ทุกพื้นที่  ซึ่งแอพฯ    นี้จะช่วยให้เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมอารมณ์ที่อาจเกิดมาจากโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อย 6 โรค ได้แก่ โรคสมาธิสั้น     โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ โรคสติปัญญาบกพร่อง โรคออทิสติก โรคดื้อต่อต้านและโรคซึมเศร้า เข้าถึงบริการดูแลรักษาเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันจะใช้แอพฯนี้ เป็นฐานข้อมูลของประเทศในการดูแลรักษาเด็กนักเรียนที่มีปัญหาการเรียนและมีปัญหาพฤติกรรมอารมณ์ด้วย

ทางด้านแพทย์หญิงดุษฎี  จึงศิรกุลวิทย์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ .เชียงใหม่ กล่าวว่า  โครงการฮีโร่ พัฒนาขึ้นโดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือและขยายผลมาสู่ภาคเหนือในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา  ผลการวิจัยทดลองในพื้นที่พบว่าได้ผลดี ครูมีความรู้และเข้าใจโรคจิตเวชดีขึ้น สามารถให้การดูแลเด็กที่มีปัญหา มีอาการดีขึ้นได้ถึงร้อยละ 70  โดยเด็กร้อยละ 30 พฤติกรรมและอารมณ์ลดลงจนเป็นปกติเหมือนเด็กทั่วไป อีกร้อยละ 40 มีอาการดีขึ้น   ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 30 ที่อาการไม่ดีขึ้น จะส่งพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยความผิดปกติและเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา   โดยไม่ต้องออกจากระบบโรงเรียน

สำหรับแอพพลิเคชั่นฮีโร่นั้น  จะเป็นช่องทางในการติดตามประเมินผลและให้คำปรึกษาช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาครอบคลุมทั้งด้านอารมณ์ พฤติกรรมเกเร ซนอยู่ไม่นิ่ง สัมพันธภาพกับเพื่อน และทักษะสังคมด้านดีของเด็ก  ขั้นตอนการใช้แอพฯ ดังกล่าว หากผลการตรวจคัดกรองพบว่าเด็กนักเรียนมีปัญหา  ครูหรือผู้ปกครองที่ผ่านการฝึกอบรมทักษะการปรับพฤติกรรมเด็กวัยเรียนตามโปรแกรมที่กรมสุขภาพจิตพัฒนาขึ้น  จะดำเนินการปรับพฤติกรรมเด็กเป็นเวลา    3 เดือน จากนั้นจึงจะใช้แอพพลิเคชั่นติดตามประเมินผลความเปลี่ยนแปลงของเด็กร่วมกันระหว่างครู หมอ พ่อแม่   และมีระบบการปรึกษาออนไลน์ (online counseling) จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่นั้นๆได้ตลอดเวลา 

แพทย์หญิงดุษฎีกล่าวต่อไปว่า แอพพลิเคชั่นฮีโร่ สามารถใช้ได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ผลดีของแอพฯนี้ จะเป็นการค้นหาเด็กที่มีความผิดปกติแต่ยังไม่ถึงขั้นป่วย ให้ได้รับการดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้กลายเป็นผู้ป่วยในช่วงวัยรุ่น  ส่วนเด็กที่ป่วยก็จะได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องและอยู่ในระบบการศึกษาที่เหมาะสม ขณะนี้สถาบันฯ ได้เริ่มจัดอบรมการให้คำปรึกษาผ่านแอพฯ แก่บุคลากรสาธารณสุขบางส่วนแล้ว สำหรับครูและผู้ปกครองที่ต้องการใช้แอพพลิเคชั่นนี้ ควรเข้าอบรมการปรับพฤติกรรมเด็กวัยเรียนก่อน  จากนั้นจึงจะได้รับusername และ password ในการใช้แอพฯ โดยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่กลุ่มภารกิจสนับสนุนและพัฒนาเครือข่ายบริการ สถาบันพัฒนาการเด็กภาคเหนือ .เชียงใหม่ เบอร์โทรศัพท์ 053 908 300 ต่อ 73140 หรือส่งจดหมายอิเลคทรอนิคthaiherodmh@gmail.com


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 มี.ค. 2561 เวลา : 19:47:23
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 6:03 am