การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กรมสุขภาพจิต ส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท ดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตเหตุปาดคอ พร้อมดูแลชุมชนรอบข้าง


กรมสุขภาพจิต ส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทลงพื้นที่เยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุปาดคอและควักตาผู้ป่วยอัมพาต ที่ .เชียงราย พร้อมวางแผนดูแลจิตใจชุมชนบ่ายนี้  เผยการดูแลผู้ป่วยจิตเวชญาติต้องให้ผู้ป่วยกินยาต่อเนื่อง ครบสูตรแม้อาการเป็นปกติแล้วก็ตาม ห้ามลดหรือหยุดยา ระบุหากผู้ป่วยกินยาต่อเนื่องจะใช้ชีวิตได้ตามปกติ หลีกเลี่ยงการปะทะอารมณ์กับผู้ป่วย และหมั่นระวังสัญญาณเตือนการกลับเป็นซ้ำ 5 อาการ หากพบต้องรีบพาไปรักษาทันที

 

 

 จากข่าวกรณีภรรยาที่มีอาการทางจิต ฆ่าปาดคอและควักลูกตา สามีอายุ 82 ปีที่ป่วยเป็นอัมพาต เสียชีวิต  เหตุเกิดที่จังหวัดเชียงรายเมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (12 มีนาคม 2561) ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว วันนี้ (13 มีนาคม 2561) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทจากโรงพยาบาล (รพ.) สวนปรุง .เชียงใหม่ ลงพื้นที่เพื่อดูแลจิตใจญาติในครอบครัวแล้ว จากการตรวจสอบพบว่าเป็นผู้ป่วยโรคจิตเภท (Schizophrenia) เรื้อรัง มีประวัติรักษาที่รพ.ศรีธัญญาตั้งแต่ปี 2541และรักษาไม่ต่อเนื่อง มีอาการกำเริบในปี 2551 และเข้ารักษาที่ รพ.สวนปรุง จากนั้นดูแลรักษาต่อที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์    .เชียงราย ผู้ป่วยไปตามแพทย์นัดทุกครั้ง  ซึ่งจะมีการตรวจสอบประวัติการกินยาของผู้ป่วยจากญาติที่ดูแลว่ากินครบตามสูตรที่จิตแพทย์จ่ายให้หรือไม่  รวมทั้งปัญหาอื่นๆที่กระทบกระเทือนใจของผู้ป่วย  ซึ่งผู้ป่วยจิตเวชจะมีความอดทนต่ำ  เมื่อมีเหตุกระทบกระเทือนใจ อาจจะควบคุมอารมณ์ไม่ได้ อาการอาจจะกำเริบขึ้นมาได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามในบ่ายวันนี้ทีม รพ.สวนปรุงจะร่วมกับ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ลงชุมชนเพื่อประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นและวางแผนเยียวยาจิตใจอย่างต่อเนื่อง  

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า ผู้ป่วยจิตเวชส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเรื้อรัง  หัวใจของการรักษาคือการกินยาเพื่อปรับการทำงานของสมองที่ผิดปกติของผู้ป่วย เช่นหูแว่ว ประสาทหลอน ให้หายกลับมาเป็นปกติ และการฟื้นฟูผู้ป่วยให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ หลังจากที่ผู้ป่วยผ่านการบำบัดรักษาฟื้นฟูในโรงพยาบาลจิตเวชจนอาการสงบและปลอดภัยแล้ว  ประเด็นสำคัญที่ผู้ป่วยและญาติจะต้องปฎิบัติอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องมี 3 เรื่องสำคัญคือ 1.ต้องดูแลให้ผู้ป่วยกินยาอย่างต่อเนื่อง  แม้ว่าจะมีอาการเป็นปกติก็ไม่ได้หมายความว่าหายขาดแล้ว อย่าลดยา หรือหยุดยาเองอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้อาการกำเริบเช่นเดียวกับผู้ป่วยเรื้อรังทางกายเช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง  ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนยังเข้าใจผิดได้บ่อย 2. ห้ามผู้ป่วยใช้สารเสพติดทุกชนิด เช่นเหล้ายาบ้า  ห้ามผู้ป่วยสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่จะทำให้ระดับยาในเลือดลดลง ไม่เพียงพอที่จะควบคุมอาการให้สงบ และ 3.ให้สังเกตอาการผิดปกติของผู้ป่วยจิตเวชที่เป็นสัญญาณเตือนการกำเริบกลับเป็นซ้ำที่สำคัญ 5 อาการ ได้แก่ 1.ไม่หลับไม่นอน 2. เดินไปมา 3. พูดจาคนเดียว 4.อารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว และ 5. หวาดระแวง หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ขอให้ญาติรีบแจ้งอสม. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่โดยด่วน เพื่อจัดการปัญหาเบื้องต้นโดยเร็วที่สุด หากยังไม่ดีขึ้น  ให้แจ้งสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน  1669  เพื่อนำตัวเข้ารับการบำบัดโดยเร็ว  

          สำหรับผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อคดีเช่นคดีนั้น กรมสุขภาพจิตได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์จัดระบบดูแลระหว่างต้องโทษคุมขังในเรือนจำทุกแห่งโดยร่วมมือกับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปที่มีจิตแพทย์และโรงพยาบาลจิตเวช เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาเช่นเดียวกับผู้ป่วยจิตเวชทั่วไปจนกระทั่งพ้นโทษและกลับไปอยู่ในชุมชน โดยมอบหมายให้สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กทม.เป็นหน่วยงานหลักพัฒนาระบบการดูแล ป้องกันการก่อเหตุซ้ำและสร้างความมั่นใจชุมชน

ทางด้านนายแพทย์ ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กทม. กล่าวว่าจากการติดตามผู้ป่วยจิตเวชที่มีประวัติเคยก่อคดีและพ้นโทษไปแล้ว รวมทั้งผู้ป่วยจิตเวชที่มีประวัติเคยทำร้ายตนเอง ทำร้ายคนอื่น ซึ่งจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงก่อความรุนแรงในชุมชน หลังรักษาจากโรงพยาบาลจิตเวช 19 แห่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ทั่วประเทศจำนวน 10,455 คน พบว่าร้อยละ 99.45 ไม่ก่อความรุนแรงซ้ำ สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามปัญหาที่มักพบเนืองๆคือการเปลี่ยนที่อยู่ ทำให้ติดตามผู้ป่วยไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือญาติขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ที่ไปอยู่ใหม่เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาใกล้บ้านต่อเนื่อง ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ  สำหรับครอบครัวที่มีผู้ป่วยจิตเวช  ควรดูแลความเรียบร้อยในบ้านให้ปลอดภัยดังนี้  

1. เก็บอาวุธ ของมีคมในบ้านให้มิดชิด ถ้าจำเป็นต้องใช้ให้เลือกมีดปลายไม่แหลมและขนาดสั้น เพื่อป้องกันผู้ป่วยนำมาใช้เป็นอาวุธ 

2. เก็บอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยอาจใช้ทำร้ายตนเองได้เช่น เชือก 

3. ห้องนอนของผู้ป่วยหรือห้องน้ำ ไม่ควรเป็นประตูที่ใส่กลอนด้านใน 

4. จัดพื้นที่บริเวณที่ผู้ป่วยอยู่ให้โล่ง ไม่วางสิ่งของเกะกะ เพื่อให้เข้าถึงตัวผู้ป่วย ได้ง่ายเมื่อมีเหตุการณ์รุนแรง ฉุกเฉิน


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 มี.ค. 2561 เวลา : 15:36:52
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 1:23 pm