การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กรมสุขภาพจิตให้ รพ.จิตเวช จัดทีมสหวิชาชีพดูแลผู้ป่วยจิตเวช 'กลุ่มเพศทางเลือก' คำนึงคุณค่า ความปลอดภัย!


กรมสุขภาพจิต ให้โรงพยาบาลจิตเวชในสังกัดทุกแห่ง จัดระบบดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเพศทางเลือกอย่างเหมาะสม  คำนึงถึงความเสมอภาค ศักดิ์ศรี คุณค่าและวิถีชีวิตแบบที่เขาเป็น หลังพบมีผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้ารักษาที่ รพ.จิตเวชเลยราชนครินทร์ .เลยในปี 2560 ร้อยละ 6 เป็นผู้ป่วยใหม่ทั้งหมด คาดว่าทั่วประเทศจะมีแนวโน้มพบเพิ่มขึ้น โดยให้จัดทีมสหวิชาชีพร่วมพิจารณาอย่างรอบคอบ สร้างความเชื่อมั่น ความปลอดภัย และความไว้วางใจต่อการให้บริการ

 

 

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ จังหวัดเลย พบว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยจิตเวชที่เป็นกลุ่มเพศทางเลือกมากขึ้น โดยที่โรงพยาบาลจิตเวชเลยฯ พบผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้ารักษาในปี 2560 ร้อยละ 6 ของผู้ป่วยทั้งหมด ทุกรายเป็นผู้ป่วยใหม่        จึงคาดว่าทั่วประเทศจะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยกลุ่มนี้มากขึ้น   

ผู้ป่วยที่มีความหลากหลายทางเพศ  เป็นกลุ่มที่ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากสังคมไทยยังให้ความสำคัญกับความเป็นชายและความเป็นหญิง จนมองข้ามในความหลากหลายเพศ ซึ่งส่งผลให้กลุ่มเพศทางเลือกถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับความเคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ประกอบกับมีความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม ส่งผลให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความไวต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่มากระทบกระเทือนด้านจิตใจ จะยิ่งทำให้มีอาการยุ่งยากซับซ้อนกว่าผู้ป่วยทั่วไป กรมสุขภาพจิตจึงมีนโยบายให้โรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่ง จัดระบบริการผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยให้จัดทีมสหวิชาชีพให้การดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจต่อการให้บริการ มุ่งเน้นให้การดูแลตามวิถีการดำเนินชีวิตแบบที่เขาเป็น (Lifestyle) คำนึงถึงความเสมอภาคและศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ และความปลอดภัย” อธิบดี      กรมสุขภาพจิตกล่าว

ทางด้านนายแพทย์อาทิตย์ เล่าสุอังกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลจิตเวชเลยฯ ได้จัดระบบบริการผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเพศทางเลือก เริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยไปรับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก โดยจะส่งพบบุคลากรที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการเช่น กรณีเพศกำเนิดเป็นชายแต่มีจิตใจเป็นหญิงจะส่งพบบุคลากร  ที่เป็นผู้หญิง หากมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ตั้งทีมสหวิชาชีพ 1 ชุด ประกอบด้วย  จิตแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยาคลินิกร่วมกันพิจารณา 

นายแพทย์อาทิตย์ กล่าวต่อไปว่า ในกรณีผู้ป่วยยังไม่ได้แปลงเพศ ทีมผู้ดูแลจะพิจารณาลงความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับการส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยว่าจะส่งไปที่ตึกผู้ป่วยชายหรือตึกผู้ป่วยหญิง โดยใช้เกณฑ์การประเมินจากภาพลักษณ์ภายนอกที่ปรากฏและแบบประเมินทางจิตวิทยาคลินิก ในกรณีที่ผู้ป่วยแปลงเพศแล้วจะส่งผู้ป่วยเข้าตึกผู้ป่วยที่ตรงตามความต้องการและให้บริการเช่นเดียวกับผู้ป่วยรายอื่นที่อยู่ในตึกเดียวกัน ทั้งนี้จากการประเมินผลจัดบริการผู้ป่วยจิตเวชที่เป็นกลุ่มเพศทางเลือกพบว่าได้สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการผู้ป่วยมีความพึงพอใจ และมีความปลอดภัย คิดเป็นร้อยละ 100


LastUpdate 17/03/2561 16:31:57 โดย : Admin
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 10:27 pm