การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กรมสุขภาพจิต ย้ำเตือน ! การดื่มเหล้าไม่ใช่ทางออกคลายทุกข์ ชี้ฤทธิ์เหล้าไปกดสมอง กระตุ้นให้ตัดสินใจผิดพลาด


กรมสุขภาพจิต เผยข้อมูลในแต่ละปีจะมีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 4,100 คน เฉลี่ยเดือนละ 340 คน สาเหตุที่พบมากที่สุดมาจากปัญหาความสัมพันธ์ทั้งในระดับครอบครัวหรือคนใกล้ชิด ย้ำหากมีการสื่อสารกันดีๆ จะช่วยป้องกันปัญหาความรุนแรงได้มาก พร้อมย้ำเตือนผู้ที่มีปัญหาเครียดทุกข์ใจไม่ควรพึ่งเหล้า เนื่องจากฤทธิ์แอลกอฮอล์จะกดการทำงานของสมองส่วนเหตุผล ส่งผลให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ เป็นตัวเร่ง กระตุ้นให้ตัดสินใจปุบปับและผิดพลาด        

 

      

 

จากกรณีการไลฟ์เฟซบุ้คยิงตัวตายของชายวัย 37 ปี ที่คอนโดย่านอ.บางพลี .สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 หลังจากมีปากเสียงกับแฟนสาวอย่างรุนแรง ถึงขั้นแฟนสาวขอแยกทาง  โดยก่อนยิงตัวตายผู้เสียชีวิตได้ดื่มเหล้ากับเพื่อนจนเมานั้น ความคืบหน้าในเรื่องนี้ วันนี้ (20 เมษายน 2561) นายแพทย์ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต  ให้สัมภาษณ์ว่า การฆ่าตัวตายเป็นพฤติกรรมของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตอย่างรุนแรง ขณะนี้กรมสุขภาพจิต เร่งป้องกันปัญหาด้วยมาตรการต่างๆทั้งการค้นหากลุ่มเสี่ยง เช่นกลุ่มที่เป็นโรคประจำตัวเรื้อรัง    การติดตามเฝ้าระวังดูแลผู้ที่เคยมีประวัติฆ่าตัวตายมาก่อนไม่ให้กระทำซ้ำ  การเผยแพร่ให้ความรู้ประชาชนให้รู้สัญญานเตือนการฆ่าตัวตาย     โดยศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ   รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์รายงานในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้พยายามฆ่าตัวตายประมาณ 53,000 คน ในจำนวนนี้ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 4,100 คน เฉลี่ยเดือนละ 340 คน เป็นชายมากกว่าหญิงเกือบ 4 เท่าตัว อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในปี 2559 อยู่ที่  6.35 ต่อประชากรแสนคน  โดยกลุ่มอายุ 35-39 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดพบได้ 10 ต่อแสนประชากร   

 จากการวิเคราะห์สาเหตุของการฆ่าตัวตายที่พบมากที่สุดในขณะนี้มาจากปัญหาความสัมพันธ์ทั้งในระดับครอบครัวหรือคนใกล้ชิด มีปัจจัยกระตุ้นสำคัญคือการทะเลาะกัน และมักมีปัญหาการดื่มเหล้าร่วมด้วย  ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด เป็นเรื่องที่ทุกครอบครัว ชุมชนและสังคมต้องช่วยกันแก้ไขป้องกันอย่างจริงจัง  โดยเฉพาะในครอบครัว ซึ่งเป็นฐานย่อยที่สำคัญของสังคม หากมีการสื่อสารกันดีๆใช้สติ ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์  จะสามารถป้องกันปัญหาและความรุนแรงต่างๆได้อย่างดี มีส่วนสำคัญจะทำให้สถานการณ์การฆ่าตัวตายลดน้อยลง นายแพทย์ชิโนรส กล่าว

ทางด้านนายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์  และศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กล่าวว่า ขณะนี้พบว่าเหล้าเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ส่งผลให้เกิดการฆ่าตัวตายสำเร็จที่พบแพร่หลายกว่าสิ่งเสพติดอื่นๆ การดื่มเหล้าไม่ว่าจะเป็นดื่มแบบครั้งคราว หรือดื่มประจำ นอกจากจะไม่ได้ช่วยคลายทุกข์ แก้ไขปัญหาต่างๆได้แล้ว ยังเป็นสาเหตุส่งเสริมให้เกิดการฆ่าตัวตายได้ทั้งสิ้น  เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์เมื่อดื่มเข้าไปแล้ว จะเข้าไปกดการทำงานของสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนที่ควบคุมด้านความคิด ความมีเหตุผลต่างๆ เป็นส่วนที่จะทำหน้าที่ยับยั้งชั่งใจเกิดการสูญเสียหน้าที่ไป   ทำให้เกิดความกล้า หุนหันพลันแล่นที่จะทำในสิ่งที่ไม่เคยทำหรือไม่กล้าทำมาก่อนง่ายขึ้น   

สิ่งที่มีความสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการสังเกตสัญญาณเตือนสำหรับการฆ่าตัวตายจะทำได้ยากมากขึ้นในผู้ที่มีพฤติกรรมการดื่มสุรา เนื่องจากฤทธิ์สุราทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ ตัดสินใจอย่างปุปปับ โดยอาจไม่มีสัญญาณใดนำมาก่อนนายแพทย์ณัฐกร กล่าว  

สำหรับเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวและคนใกล้ชิดนั้น  อยากให้ทุกครอบครัวช่วยกันป้องกันด้วยการสื่อสาร พูดจากันด้วยถ้อยคำดีๆ ไม่ให้อีกฝ่ายเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ขอใช้คำพูดทักทายด้วยคำพูดดีๆ เช่นกล่าวคำขอบคุณ ขอโทษ คิดถึง เป็นห่วง รัก เป็นต้น ไถ่ถามสารทุกข์และฟังความคิดคนอื่นอย่างยืดหยุ่น และไม่ตำหนิซ้ำเติม เพื่อประคับประคองจิตใจ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน  หากพูดกันแล้วมีอารมณ์โกรธหรือควบคุมอารมณ์ไม่ได้  ขอให้ออกจากสถานการณ์ที่ตึงเครียดไปก่อน และหันกลับมาพูดคุยกันใหม่เมื่อจิตใจสงบ หรือที่เรียกว่าตบมือข้างเดียวจะไม่ดัง จะทำให้เห็นทางออกแก้ไขปัญหาร่วมกัน หากมีปัญหาไม่สบายใจ ควรปรึกษาคนที่ไว้ใจ หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง จะช่วยให้เราได้ระบายทุกข์ออกไปและเห็นหนทางแก้ที่ชัดเจนขึ้น 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 เม.ย. 2561 เวลา : 15:14:16
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:14 am