การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
ชูผลปรับเปลี่ยนพื้นที่นาเพื่อส่งเสริมปศุสัตว์ ช่วยเกษตรกรลดรายจ่าย สร้างรายได้


สศก. เผยผลการส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่นาไม่เหมาะสม เกษตรกรตอบรับเต็มที่ ได้รับการสนับสนุนค่าปัจจัยการผลิต สินเชื่อค่าก่อสร้างโรงเรือน และค่าจัดซื้อพ่อแม่พันธุ์ รวมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ ช่วยลดรายจ่ายค่าอาหารสัตว์ได้ 24,124 บาท/ราย/ปี และจำหน่ายผลผลิตอาหารสัตว์และมูลสัตว์ที่เหลือ สร้างรายได้เฉลี่ยรายละ 5,778 บาท/ปี

 

 

นายวิณะโรจน์  ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ โดยการส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ โคเนื้อ และแพะ รวม 55 จังหวัด ในรูปแบบของกลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ ซึ่งมีการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อการเลี้ยงกระบือกลุ่มละไม่เกิน 3 ล้านบาท โคเนื้อ 4 ล้านบาท และแพะ 2.5 ล้านบาท โดยเป็นค่าจัดสร้างโรงเรือนเลี้ยงโคเนื้อและกระบือรายละ 50,000 บาท และแพะรายละ 100,000 บาท  ค่าจัดซื้อพ่อแม่พันธุ์กระบือรายละ 5 ตัว ตัวละไม่เกิน 50,000 บาท โคเนื้อรายละ 5 ตัว ตัวละไม่เกิน 65,000 บาท และแพะรายละ 32 ตัว (ตัวผู้ 2 ตัวๆ ละ 6,000 บาท และตัวเมีย 30 ตัวๆ ละ 4,000 บาท)           ซึ่งวงเงินสินเชื่อ ... ให้กลุ่มเกษตรกรในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี (เรียกเก็บจากกลุ่มเกษตรกรในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ... ร้อยละ 3 ต่อปี) ระยะเวลาการชำระเงินกู้ไม่เกิน 6 ปีนับแต่วันกู้ นอกจากนี้ ยังได้รับเงินสนับสนุนฟรีเป็นค่าจัดเตรียมแปลงหญ้าและระบบน้ำไร่ละ 4,000 บาทด้วย

ในการนี้ สศก. ได้ลงพื้นที่ติดตามเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2560 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และสระแก้ว ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 พบว่า ส่วนใหญ่เกษตรกรรับทราบข้อมูลโครงการผ่านเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอและผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน/อบต. โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 80 เคยมีประสบการณ์การเลี้ยงกระบือ โคเนื้อ และแพะ เฉลี่ย 12 ปี อีกร้อยละ 20 ไม่เคยมีประสบการณ์การเลี้ยงมาก่อน

เกษตรกรที่ร่วมโครงการ มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ตามเป้าหมายโครงการ เฉลี่ยรายละ 5 ไร่ โดยเกษตรกรได้รวมกลุ่ม            จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อขอรับการสนับสนุนสินเชื่อในภาพรวมเฉลี่ยกลุ่มละ 1,814,138 บาท (กลุ่มผู้เลี้ยงกระบือได้รับเงินสนับสนุนเฉลี่ย 2,168,185 บาท/กลุ่ม ผู้เลี้ยงโคเนื้อ 1,873,412 บาท/กลุ่ม และกลุ่มผู้เลี้ยงแพะ 1,220,063 บาท/กลุ่ม)

เกษตรกรร้อยละ 83 จัดซื้อพ่อแม่พันธุ์จากพ่อค้าในจังหวัดและหมู่บ้านที่ตั้งกลุ่ม รองลงมาร้อยละ 10 ซื้อจากพ่อค้าในจังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดสุรินทร์ และกาญจนบุรี นอกนั้นซื้อจากนายหน้าญาติพี่น้อง และเพื่อนบ้าน

เกษตรกรได้รับการส่งเสริมให้ผลิตอาหารสัตว์ เช่น ปลูกหญ้าเนเปียร์และหญ้าแพงโกล่า เฉลี่ยรายละ 33 ตัน/ปี นำใช้เป็นอาหารสัตว์ในฟาร์มของตนเองเฉลี่ย 32 ตัน ส่งผลให้ช่วยลดรายจ่ายค่าอาหารสัตว์ได้มูลค่า 24,124 บาท/ราย/ปี โดยในส่วนของมูลสัตว์ เกษตรกรมีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย ส่วนใหญ่ร้อยละ 77 นำไปใช้เป็นปุ๋ยในแปลงเกษตรของตนเอง เช่น นาข้าว แปลงพืชผักพืชไร่ รองลงมาจำหน่ายเป็นมูลแห้ง และนำไปทำปุ๋ยหมัก รวมทั้งนำไปทำเป็นเชื้อเพลิง อีกทั้ง มีการจำหน่ายผลผลิตอาหารสัตว์และมูลสัตว์ที่เหลือจากการนำไปใช้ สามารถสร้างรายได้แก่เกษตรกรเฉลี่ยรายละ 5,778 บาท/ปี

ทั้งนี้ เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อภาพรวมโครงการระดับมาก อย่างไรก็ตาม เกษตรกร ยังคงต้องการให้ภาครัฐจัดหาตลาดรองรับผลผลิตปศุสัตว์ที่มีการส่งเสริม สนับสนุนแหล่งน้ำสำหรับเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น บ่อบาดาล หรือสระน้ำขนาดเล็ก และจัดให้มีการอบรมความรู้ สนับสนุนสินเชื่อและสนับสนุนเครื่องหั่นสับพืชอาหารสัตว์  ตลอดจนติดตามให้คำแนะนำในการเลี้ยงปศุสัตว์อย่างต่อเนื่อง


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 เม.ย. 2561 เวลา : 11:59:45
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 12:51 am