เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ เรื่อง ราคาน้ำมันและอาหารสดดันเงินเฟ้อทั่วไปขึ้นสูงสุดในรอบ 14 เดือน แต่อีไอซียังคงคาดการณ์ทั้งปีที่ 1.1%


ตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นไปที่ 1.07%YOY จาก 0.79%YOYในเดือนมีนาคม ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปี 2018อยู่ที่ 0.75%YOY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับขึ้นเล็กน้อยไปที่0.64%YOY จาก 0.63%YOY ในเดือนก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 0.62%YOY

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือนเป็นผลจากราคาน้ำมันและราคาอาหารสดที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยเดือนเมษายนอยู่ที่ 71.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 35.0%YOY ส่งผลให้ดัชนีราคาพลังงานขยายตัว 4.7%YOY นอกจากนี้ ราคาอาหารสดกลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือนที่ 0.49%YOY นำโดยราคาผักสดเพิ่มขึ้น 6.8%YOY ราคาข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น 1.4%YOY 

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารค่อนข้างทรงตัว เช่น ราคาหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าขยายตัวเพียง 0.11%YOY หมวดค่าเช่าที่พักอาศัยขยายตัวที่0.63%YOY หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลที่ 0.49%YOYเป็นต้น

 

 

อีไอซียังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2018 อยู่ที่ 1.1%YOYโดยเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงที่เหลือของปีที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อน การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสำหรับบุหรี่และสุรายังคงมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และยังต้องจับตาผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อต้นทุนการผลิตซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป นอกจากนี้ ต้องจับตาอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดที่อาจปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2 หลังราคาในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากฐานต่ำในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ผลของฐานต่ำของราคาน้ำมันและอาหารสดจะเริ่มหายไปในช่วงครึ่งหลังของปีและมีแนวโน้มทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงจากไตรมาส 2

อีไอซีมองว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยมีแนวโน้มทรงตัวที่ 0.6%YOY ในปี2018 โดยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปอาจปรับขึ้นได้ยาก เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเห็นได้จากดัชนีการบริโภคสินค้าไม่คงทนขยายตัวต่ำเพียง 0.5%YOY ในช่วง 3 เดือนแรกของปี จากอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้ภาคเกษตรยังลดลงจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนโดยเฉพาะราคายางพาราและราคาอ้อย อีไอซีมองว่าความอ่อนแอของกำลังซื้อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็นแรงกดดันสำคัญต่อแนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐาน เนื่องจากตะกร้าดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยสะท้อนรูปแบบการใช้จ่ายของผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อยเป็นหลัก

ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 1-4% แล้ว แต่ปัจจัยกดดันที่ยังมีอยู่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับมาหลุดกรอบได้ เช่น กำลังซื้อครัวเรือนที่ยังอ่อนแอ ผลผลิตทางการเกษตรที่อาจมีปริมาณออกสู่ตลาดจำนวนมากตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย เป็นต้นทำให้อีไอซีมองว่าในกรณีฐานอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงที่ตลอดปี2018 ที่ 1.5% อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการนโยบายการเงินมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงินจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงท้ายของปีนี้ได้เช่นกัน


LastUpdate 03/05/2561 10:52:15 โดย : Admin
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 1:58 pm