การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กรมสุขภาพจิต ชี้ผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อคดี ต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง ย้ำพลัง 3 ประสานป้องกันปัญหาได้


กรมสุขภาพจิต ชี้กรณีผู้ป่วยจิตเวชก่อคดี ต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง เน้นใช้พลัง 3 ประสาน  โรงพยาบาลครอบครัว- และชุมชน จะป้องกันปัญหาผู้ป่วยจิตเวชก่อคดีรุนแรงได้ผล ย้ำผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคจิตเภท ให้ดูแลและรับการรักษาอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ขณะเดียวกันจะเสริมยารักษาชนิดฉีด    ที่ออกฤทธิ์ได้ยาว 2 สัปดาห์-1 เดือนมาใช้ควบคู่หรือแทนยากิน ลดภาระญาติได้

 

 

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยกรณีข่าวอดีตนักมวยก่อคดีทำร้ายพ่อจนเสียชีวิตที่จังหวัดขอนแก่น และภายหลังการจับกุมมีการระบุว่าผู้ก่อเหตุมีอาการทางจิตว่ากรมสุขภาพจิตได้ตรวจสอบพบว่าชายคนดังกล่าวเป็นผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังที่เคยไปรับการรักษาที่ รพ.จิตเวช มาก่อน ทีมจิตเวชในพื้นที่ได้ติดตามเยี่ยมผู้ป่วยและครอบครัวเป็นระยะๆ แต่เนื่องจากผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงที่อยู่บ่อย ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการติดตามดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อคดีไม่สามารถถูกยกเว้นโทษตามกฎหมายได้ หากยังรู้ผิดชอบหรือบังคับตนเองได้ จึงต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามกฎหมาย แต่ต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม กรมสุขภาพจิตได้เร่งแก้ปัญหาผู้ป่วยขาดยาหรือขาดนัด โดยใช้ยารักษาโรคจิตเวชชนิดฉีดมาใช้ ซึ่งเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีใช้ในโรงพยาบาลของรัฐทั้งในระดับอำเภอและจังหวัด ยาชนิดนี้ออกฤทธิ์ได้ยาวนาน 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน ซึ่งอาจใช้เดี่ยวๆ หรือใช้ควบคู่กับยากิน ซึ่งจะสามารถลดปัญหาการขาดยาของผู้ป่วยได้ดีในระดับหนึ่ง แต่การดูแลรักษาคนไข้ทางจิตเวชที่ดีและได้ผลที่สุด จะต้องใช้หลัก 3 ประสาน ทั้งโรงพยาบาลที่รักษา ครอบครัวผู้ป่วย และชุมชนที่ผู้ป่วยอยู่ต้องให้การยอมรับ และให้โอกาสกับพวกเขา แม้ที่ผ่านมาจะมีปัญหาการก่อคดีของผู้ป่วย   จิตเวชปรากฎเนืองๆ ทำให้สังคมหวาดกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัยก็ตาม แต่การกระทำผิดรุนแรงที่เกิดจากการเจ็บป่วยทางจิตนั้นเกิดขึ้นไม่บ่อยเมื่อเทียบกับคนปกติ อย่างไรก็ตามการมีโอกาสเข้าถึงบริการ และได้รับการดูแลเอาใจใส่จากบุคคลในครอบครัวจะส่งผลให้อาการป่วยทางจิตดีขึ้น อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

ด้านนายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ .ขอนแก่นกล่าวว่า    โรคจิตเภท เป็นโรคที่พบมากที่สุดในบรรดาโรคจิตเวชทั้งหมด พบได้ร้อยละ1ของประชากรทั่วไป คาดทั่วประเทศมีประมาณ 6 แสนคน ผู้ป่วยจะมีอาการเด่นที่ไม่พบในคนปกติ คือ หลงผิดเช่นหวาดกลัว ระแวง คิดว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษ มีพลังอำนาจเหนือมนุษย์ ประสาทหลอนเช่นหูแว่ว พูดจาไม่รู้เรื่อง และพฤติกรรมท่าทางแปลกๆ แต่งกายไม่เหมาะสมพบในวัยทำงานมากที่สุด สาเหตุเกิดมาจากหลายปัจจัย เช่น กรรมพันธุ์ ความผิดปกติของสมอง ความเครียด หรือใช้สารเสพติด โดยผู้ป่วย การรักษาโรคนี้มีวิธีใช้ควบคู่กันคือ 1. ใช้ยา 2. การบำบัดทางจิตสังคมและสิ่งแวดล้อม     ปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมรวมทั้งฝึกทักษะทางสังคม เช่น รู้จักการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น การสื่อสารไม่ให้มีการขัดแย้ง เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้ว ยังไม่ได้หมายความว่าหายขาดแล้ว จะต้องกินยาหรือฉีดยาต่อเนื่อง เพื่อช่วยควบคุมอาการและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีดูแลตนเองและทำงานได้อยู่ในสังคมได้     

นายแพทย์ณัฐกร กล่าวต่อว่า หากมีผู้ป่วยจิตเภทอยู่ในบ้าน คนในครอบครัวต้องพยายามทำความเข้าใจ อดทน ไม่รังเกียจให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธผู้ป่วย ไม่ควรขัดแย้งหรือโต้เถียงกับผู้ป่วย แต่ควรให้ความเห็นใจในความทุกข์ที่ผู้ป่วยได้รับจากอาการทางจิตเหล่านั้น รวมทั้งอยู่เคียงข้างให้กำลังใจ ช่วยดูแลประคองให้กลับสู่โลกของความเป็นจริง  กระตุ้นให้ผู้ป่วยรู้จักช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด เช่น อาบน้ำ แต่งตัว หรือให้ประกอบอาชีพเดิมที่เคยทำอยู่ตามความสามารถของผู้ป่วย ตลอดจนจัดหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำ สร้างความภาคภูมิใจให้ผู้ป่วย ที่สำคัญที่สุดต้องดูแลเรื่องการกินยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ควรเพิ่ม หยุด หรือลดยาเอง พบแพทย์ตามนัด ไม่ให้ผู้ป่วยใช้สารเสพติดทุกชนิด หากพบผู้ป่วยมีพฤติกรรมสับสน ไม่ยอมกินยา ไม่ยอมมาพบแพทย์ ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง และให้สังเกตอาการผิดปกติของผู้ป่วยหากมีอาการดังต่อไปนี้ พูดเพ้อเจ้อ เอะอะ อาละวาด        ไม่ยอมนอน ฉุนเฉียว หัวเราะคนเดียว ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 พ.ค. 2561 เวลา : 18:00:08
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 3:08 am