คุณภาพชีวิต
กรมสุขภาพจิต ใส่ใจ 'คุณภาพชีวิตผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภท' ชี้เป็นตัว 'พยากรณ์' อาการผู้ป่วยที่บ้าน


กรมสุขภาพจิตขานรับวันโรคจิตเภทโลก ยกมาตรฐานดูแลรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภทซึ่งเป็นโรคจิตเวชที่พบมากอันดับ 1 ในประเทศมีกว่า 6 แสนคน โดยพัฒนาเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตของผู้ให้การดูแลผู้ป่วยโรคนี้โดยเฉพาะ  ชี้จะเป็นตัวพยากรณ์อาการของผู้ป่วยที่บ้านที่ดีที่สุด และใช้ป้องกันปัญหาเครียดท้อแท้ใจของผู้ให้การดูแล  ขณะนี้สำเร็จแล้ว เตรียมนำออกใช้ทั่วประเทศ และใช้ในระบบออนไลน์ได้ด้วย

 

 

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสุขภาพจิตให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 24 พฤษภาคมทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันโรคจิตเภทโลก (World Schizophrenia day) เนื่องจากเป็นโรคจิตเวชที่พบได้ทั่วโลกมากกว่า 21 ล้านคน ในส่วนของประเทศไทยพบโรคนี้มากอันดับ1อัตราป่วยร้อยละ 1 ของประชากร  คาดว่ามีผู้ป่วยประมาณ600,000 คนทั่วประเทศ มักพบในช่วงอายุ 15-35 ปี สาเหตุเกิดจากพันธุกรรม ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดและการรับรู้ที่ผิดไปจากความเป็นจริง    มีพฤติกรรมแปลกๆ ส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ลักษณะอาการเด่นของผู้ป่วยโรคนี้คือ 1.หลงผิด เช่นคิดว่ามีคนปองร้าย 2. ประสาทหลอน เช่นหูแว่ว ได้ยินเสียงคนพูดทั้งที่ไม่มีใครอยู่ใกล้ 3. พูดจาฟังไม่รู้เรื่อง 4. มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่นแต่งกายแปลกๆ  

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ในการดูแลผู้ป่วยโรคนี้ จะเน้นที่การรักษาด้วยยาและการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านจิตสังคมและสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วย ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทผู้ป่วยเรื้อรัง ต้องกินยาควบคุมอาการต่อเนื่อง  จะทำให้อาการสงบ สามารถใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัว ชุมชนได้  ซึ่งญาติเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้ว มีอาการคงที่ ไม่กำเริบซ้ำ  โดยดูแลให้กินยาและพาผู้ป่วยพบแพทย์ตามนัด ในปีนี้กรมสุขภาพจิตมีนโยบายขยายผลให้การดูแลคุณภาพชีวิตของญาติที่ดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภทด้วย เพื่อยกระดับคุณภาพบริการผู้ป่วยของประเทศ   เนื่องจากผลของการดูแลของญาติจะเป็นตัวพยากรณ์อาการของผู้ป่วยโดยตรง  หากผู้ดูแลมีคุณภาพชีวิตที่ดี จะส่งผลผู้ป่วยได้รับการดูแลเอาใจใส่ดีไปด้วย  แต่หากคุณภาพชีวิตผู้ดูแลต่ำ เผชิญทั้งความกดดัน ความยากลำบาก ความเดือดร้อนจากการทำกิจกรรมหรือดูแลผู้ป่วย   มีความเสี่ยงส่งผลกระทบทั้งต่อตัวผู้ดูแลเอง โดยเฉพาะความเครียด อาจเกิดความท้อแท้ เบื่อหน่ายชีวิต เกิดโรคซึมเศร้าได้ ได้มอบหมายให้โรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ ดำเนินการพัฒนา ขณะนี้สำเร็จแล้ว จะใช้ในเขตสุขภาพและโรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่งต่อไป

 

 

ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการ รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ .นครพนม  กล่าวว่า     แบบประเมินคุณภาพชีวิตของญาติที่ให้การดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภทที่พัฒนาครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยประยุกต์เทียบกับเครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลก และปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย มีทั้งหมด 5ด้าน ประกอบด้วย1.ด้านภาวะสุขภาพกายและสุขภาพจิต เช่นการเกิดความรู้สึกซึมเศร้า หนักใจ วิตกกังวล ไม่มีพลัง  2.ด้านภาระที่เกิดจากการดูแลเช่นการยกเลิกกิจกรรมที่เคยทำดีมากๆเพราะต้องดูแลผู้ป่วย ความรู้สึกที่ไม่ได้ทุมเทเวลาดูแลคนอื่น  3. ด้านปัจจัยที่มีผลต่อการดูแลเช่นการพบความยากลำบากในการพาผู้ป่วยโรงพยาบาล ปัญหาการเงิน 4. สัมพันธภาพระหว่างผู้ดูแลและทีมสุขภาพ  เช่น การได้รับความช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากแพทย์หรือพยาบาลหรือไม่ และ 5. สัมพันธภาพภายในครอบครัวและบุคคลอันเป็นที่รัก เช่นได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวหรือไม่  ผลการทดสอบพบว่าเป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการคือมีความเที่ยงตรง ความน่าเชื่อถือ  ให้ผลแม่นยำ โดยแปลผลออกเป็นระดับคือ ดี และไม่ดี

นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวต่อว่า จากการทดลองนำแบบประเมินดังกล่าวไปใช้ในคลินิกผู้ป่วยโรคจิตเภทของรพ.จิตเวช นครพนมกว่า 2 เดือน ได้ประเมินผู้ให้การดูแลผู้ป่วยแล้ว 300 คน พบว่าโดยรวมอยู่ในระดับดี และในด้านอาการของผู้ป่วยจิตเภทก็ดีตามไปด้วยคืออาการคงที่ ไม่มีอาการกำเริบ โดยรพ.ได้พัฒนาให้สามารถประเมินผ่านทางระบบออนไลน์ได้ด้วย แบบวัดคุณภาพชีวิตนี้จะช่วยให้ทีมสุขภาพค้นหาปัญหาและให้ความช่วยเหลือสนับสนุนแก่ผู้ดูแลผู้ป่วยได้ตรงกับความต้องการ เพิ่มประสิทธิภาพดูแลผู้ป่วยยิ่งขึ้น


LastUpdate 24/05/2561 17:14:57 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 10:49 am