คุณภาพชีวิต
ทีมสุขภาพจิต ลงพื้นที่โรงเรียนใน จ.ปทุมธานี กรณีครูก่อเหตุทำร้ายตัวเอง หวั่นนักเรียนได้รับผลกระทบทางใจ


กรมสุขภาพจิต ห่วงใยบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งบุคลากรในโรงเรียน และนักเรียนในโรงเรียนในพื้นที่  .ปทุมธานี ที่ครูทำร้ายตนเองจนถึงแก่ชีวิต หวั่นเครียดจากเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือ รู้สึกผิด รวมทั้งการโทษตัวเอง ส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทดูแลจิตใจลงพื้นที่ ขณะเดียวกันขอให้ครู ผู้ปกครอง สังเกตความผิดปกตินักเรียนหากพบมีอาการเครียด หวาดกลัว กระวนกระวาย หรือเงียบขรึม ไม่ร่าเริงเหมือนเคยให้รีบประสานขอรับคำแนะนำช่วยเหลือจากทีมสุขภาพจิตในพื้นที่ พร้อมแนะประชาชนที่มีปัญหาเครียด กังวลใจ หาทางออกไม่ได้ ให้โทรปรึกษาทางสายด่วนสุขภาพจิต1323 โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง  ย้ำไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย

 

 

จากกรณีครูสอนวิชาสังคมในโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ก่อเหตุทำร้ายตนเองจนถึงแก่ชีวิตใน    ห้องเรียน โดยมีการคาดการณ์ว่าสาเหตุมาจากความเครียดจากการทำงาน ผิดหวังจากการสอน ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า กรมสุขภาพจิตมีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ เกรงว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะที่ครูก่อเหตุ อาจได้รับผลกระทบทางจิตใจ และส่วนหนึ่งอาจรู้สึกผิดหรือโทษตัวเองที่ไม่เชื่อฟังครู จึงได้ส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team :MCATT) จากโรงพยาบาลศรีธัญญา และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์  เข้าไปประเมินสุขภาพจิตของนักเรียนครอบคลุมทั้งกลุ่มที่อยู่ในเหตุการณ์ นักเรียนห้องเรียนอื่นที่ผู้เสียชีวิตสอน และนักเรียนห้องเรียนอื่นๆ  พร้อมทั้งประเมินสุขภาพจิตของครูทั้งหมดในโรงเรียน เพื่อวางแผนให้การดูแลช่วยเหลือทางจิตใจร่วมกับทีมจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี จนกว่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติ  พร้อมทั้งขอให้ ครู ผู้ปกครองช่วยสังเกตความผิดปกติของเด็กนักเรียน หากพบมีอาการเครียดหวาดกลัว กระวนกระวาย หรือเงียบขรึมไม่ร่าเริงเหมือนเคย  ให้รีบประสานขอรับการช่วยเหลือจากทีมสุขภาพจิตในพื้นที่ และให้เลี่ยงการย้ำหรือพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากอาจจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กหวนคิด ตอกย้ำความรู้สึกเครียดขึ้นไปอีก

 

 

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การมุ่งมั่นเอาจริงกับการทำงานเป็นสิ่งดี แต่ไม่ควรเครียดจนเกินไป เพราะเมื่อเกิดความเครียดขึ้นแล้ว นอกจากจะทำให้ไม่ได้งานดีอย่างที่ตั้งใจ ยังส่งผลเสียด้านอื่นๆ เช่น ทำเกิดโรคทางกายได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ จึงขอให้ผู้ทำงานคำนึงถึงศักยภาพของตนเอง และยอมรับในความแตกต่างของแต่ละบุคคล    ที่ไม่เหมือนกัน ประการสำคัญเมื่อมีความเครียดแล้ว  จะต้องรู้จักการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อไม่ให้สะสมคั่งค้างในใจ โดยมีวิธีการจัดการความเครียดในการทำงาน 10 วิธีง่ายๆ ดังนี้  1.จัดเวลาออกกำลังกาย อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 วัน      ครั้งละอย่างน้อย30นาที  จะทำรู้สึกตัวเบา สมองโล่งขึ้น 2. พักผ่อนหย่อนใจ หามุมสงบสบายนั่งพัก หรือถ้านั่งทำงานทั้งวันควรเดินยืดเส้นยืดสายบ้าง หรืออาจหากิจกรรมที่ชอบทำหลังเลิกงาน 3.ใช้คำพูดที่ชวนฟัง เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน 4. จัดการกับอารมณ์ตัวเอง โดยตั้งสติ ไตร่ตรองถึงสิ่งที่เกิดขึ้น คิดถึงผลดี ผลเสียที่จะตามมา 5. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน 6. แบ่งเวลาอย่างเหมาะสมระหว่างงานสำคัญ เร่งด่วน  งานทั่วไป และเวลาส่วนตัว 7. แสดงความคิดเห็นในทางสร้างสรรค์ กล้าบอกความต้องการของตนเองตามสิทธิที่ควรได้รับ และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน 8. สร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้ตนเอง รู้จักชื่นชมและให้กำลังใจตัวเอง รู้จักปรับเปลี่ยนความคิด อย่าเอาแต่วิตกกังวลให้มากเกินไป ลองคิดใน หลายๆ แง่มุม คิดในสิ่งดีๆ คิดอย่างมีความหวัง และเลี่ยงการคิดหมกมุ่น แต่ปัญหาเดิมๆ 9.เก็บออมให้เป็นนิสัย เพราะจะช่วยให้มีความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ 10.เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี โดยหาสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาและแก้ที่ต้นเหตุ หลีกเลี่ยงการแก้ปัญหาด้วยอารมณ์ 

“ ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้เปิดให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ผู้ที่มีปัญหาทุกข์ทางใจ กลุ้มใจทุกเรื่อง   สามารถโทรขอรับคำปรึกษาได้ตลอด  24 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น  ขณะเดียวกันขอแนะนำให้ประชาชนทุกคนที่มีโทรศัพท์มือถือทุกระบบ บันทึกเบอร์ 1323ไว้ในเครื่อง หากมีปัญหาสามารถโทรออกหาเจ้าหน้าที่ได้ทันที         การปรึกษาคนอื่น หรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ไม่ใช่เรื่องที่น่าอับอายหรือทำให้เสียหน้า ตรงกันข้ามจะทำให้เรารู้ทางออที่หลากหลายกว่าการคิดอยู่คนเดียว   ”อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 พ.ค. 2561 เวลา : 14:17:54
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 6:09 am