เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ราคาน้ำมันพุ่งฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคทรุด


ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นปัจจัยหลักทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน  แม้รัฐบาลจะพยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท 

 

 

นายธนวรรธน์  พลวิชัย   ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่สำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 2,239 คนทั่วประเทศ ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ..61 อยู่ที่ 80.1 ลดลงจาก 80.9 ในเดือนเม..61 และเป็นการปรับลดลงทุกรายการเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน    ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 66.9 ลดจาก 67.8 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 75.2 ลดจาก 75.8 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 98.3 ลดจาก 99.1 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 54.4 ลดจาก 55.3 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 91.3 ลดจาก 91.9

สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง   มาจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และมีกระแสข่าวที่ราคาน้ำมันดีเซลจะทะลุ 30 บาทต่อลิตร    ซึ่งเป็นผลทางจิตวิทยาเชิงลบต่อผู้บริโภค ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกช็อกและ ชะลอการใช้จ่าย   โดยดัชนีค่าครองชีพปรับลดลงมาอยู่ที่ 59.3 ต่ำสุดในรอบ 47 เดือน และเป็นครั้งแรกในรอบ 48 เดือนหรือ 4 ปีที่ผลสำรวจส่วนใหญ่ 51% ระบุว่าค่าครองชีพอยู่ในระดับแย่ และยังได้รับผลเชิงลบจากสถานการณ์การเมืองที่ไม่นิ่ง ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ และความวิตกปัญหาสงครามการค้าโลกระหว่างสหรัฐฯ กับจีน    

แม้ความกังวลที่เกิดขึ้น  จะทำให้ความเชื่อมั่นมีสัญญาณชะลอลง  แต่ยังไม่เห็นสัญญาณว่าปัจจัยลบที่เกิดขึ้นจะยาวนานไปกว่านี้    จึงมองว่าความเชื่อมั่นจะฟื้นตัวแบบอ่อนๆ   โดยต้องรอดูสัญญาณให้นิ่งก่อน   โดยเฉพาะราคาน้ำมัน และมาตรการตอบโต้กลับของสหรัฐฯ ในสงครามการค้า   ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 2 และ 3

 


 

ขณะที่นายปรีดี ดาวฉาย   ประธานสมาคมธนาคารไทย   ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. เปิดเผยว่า   ที่ประชุม กกร.ได้ประเมินจากเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2561 ที่ผ่านมาเติบโตถึงร้อยละ 4.8    นับเป็นไตรมาสที่ขยายตัวสูงสุดของปีนี้     โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่เหลือของปีนี้ จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงบ้างจากสินค้าคงคลัง    แต่ยังเชื่อว่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ ทั้งปีน่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบประมาณการที่ปัจจุบันคาดไว้ที่ร้อยละ 4-4.5 ขณะที่การส่งออกขยายตัวไว้ที่ร้อยละ 5-8 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดไว้ที่ร้อยละ 0.7-1.2          

ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ   อาทิ ราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่ยังอยู่ในระดับต่ำ    ขณะที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน    จะเป็นแรงกดดันต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงที่เหลือของปี    ส่วนประเด็นต่างประเทศนั้น  ในระยะสั้นคงอยู่ที่เสถียรภาพของยูโรโซน จากประเด็นการเมืองในอิตาลี    รวมถึงแนวนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนกติกาไปจากเดิมและอาจนำมาสู่การตอบโต้ทางการค้าจากประเทศคู่ค้าหลักในโลก   ซึ่งอาจไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อภาพรวมการค้าโลกและคงส่งผลให้ตลาดเงินและตลาดทุนโลกมีแนวโน้มผันผวนต่อไป


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 มิ.ย. 2561 เวลา : 09:46:52
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 11:34 am