การตลาด
GDP SMEs ไตรมาส 1 ปี 2561


สสวเผย GDP SMEs ไตรมาส 1 ปี 2561  ขยายตัวร้อยละ 6.0แต่คาดการเติบโตทั้งปี 61 ไว้ที่ 5.0-5.5% ปัจจัยจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการค้าและภาคการบริการ โดยเฉพาะในสาขาการท่องเที่ยว และธุรกิจขนส่ง ประกอบกับการบริโภคของประชาชน การลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลัง

 

 

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของ SME ไตรมาสที่ 1 ปี 2561ขยายตัวร้อยละ 6.0 โดยมีมูลค่า 1.74 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.8 ของ GDPรวมทั้งประเทศ ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการค้าและภาคการบริการ โดยเฉพาะในสาขาการบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร และธุรกิจขนส่ง ซึ่งแม้ว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน แต่ยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 12.8 และ 7.1 ตามลำดับ

ด้านมูลค่าการส่งออกของ SMEใน 5 เดือนแรก ปี 2561 (มกราคม – พฤษภาคม 2561) มีมูลค่า25,467.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.5 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และขยายตัวเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 7.8ตลาดส่งออกสำคัญอยู่ในกลุ่มตลาดอาเซียน มีมูลค่า 7,576 ล้านดอลลาร์  ขยายตัวร้อยละ 6.0 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.7รองลงมาคือ ประเทศจีน มีมูลค่า 3,019 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.9 สำหรับสินค้าส่งออกที่สำคัญของ SME อยู่ในหมวดอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่า 4,413 ล้านดอลลาร์หดตัวลงร้อยละ 1.5 เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกมีความผันผวนมาก ในขณะที่มูลค่าการส่งออกพลอยและเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงินและทองเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เมื่อหักทองคำออก จะทำให้หมวดอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) มีการขยายตัวร้อยละ 9.7 ส่วนการส่งออกสินค้าสำคัญที่มีการขยายตัวได้ดี คือ หมวดพลาสติก และของทำด้วยพลาสติก มีมูลค่า 2,346 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 23.0 รองลงมาคือหมวดยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 19.0

สถานการณ์การส่งออกมีการขยายตัวทุกตลาด สาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจน อีกทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และตลาดยุโรปขยายตัวได้ดีจากการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวดีขึ้น และเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีของประเทศกลุ่มอาเซียน

ด้านการนำเข้าของ SMEใน 5 เดือนแรก ปี 2561 (มกราคม – พฤษภาคม 2561) มีมูลค่า31,378.64 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.7 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2560 ร้อยละ 18.6 ตลาดนำเข้าสำคัญอยู่ในกลุ่มตลาดอาเซียน มีมูลค่า 8,009 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 13.2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.7  รองลงมาคือ ประเทศจีน มีมูลค่า 7,668 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.1 เมื่อพิจารณาตามโครงสร้างการนำเข้า พบว่า เป็นกลุ่มวัตถุดิบ และสินค้ากึ่งสำเร็จรูป มีสัดส่วนร้อยละ40.3 ขยายตัวร้อยละ 18.3กลุ่มสินค้าทุน มีสัดส่วนร้อยละ24.9 ขยายตัวร้อยละ 18.2 กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคมีสัดส่วนร้อยละ 16.7 ขยายตัวร้อยละ17.6 และกลุ่มสินค้านำเข้าอื่นๆ มีสัดส่วนร้อยละ18.1 ขยายตัวร้อยละ 20.7

สถานการณ์การนำเข้าของ SME มีการขยายตัวทุกตลาดสำคัญ และทุกประเภทสินค้าสำคัญ อีกทั้งโครงสร้างนำเข้าก็ปรับตัวสูงขึ้นทุกกลุ่มสินค้า เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวจากการบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนภาครัฐ อีกทั้งค่าเงินบาทยังแข็งตัวต่อเนื่องและยังมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำ ส่งผลดีต่อการนำเข้า แต่จะเห็นได้ว่า SME ไทยนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนสูงสุดร้อยละ 25.6

ทั้งนี้ จำนวนผู้ประกอบการ SME ปี 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,046,793 ราย มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.8 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งประเทศ โดยเป็นจำนวนวิสาหกิจขนาดเล็ก (SE) จำนวนทั้งสิ้น 3,028,495 ราย และมีจำนวนวิสาหกิจขนาดกลางจำนวน 18,298 ราย เมื่อจำแนกตามประเภทการจัดตั้งกิจการ สามารถจำแนกได้ 3 ประเภท ได้แก่ นิติบุคคลมีจำนวนทั้งสิ้น 675,633 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.2ของจำนวนSME รวมทั้งประเทศส่วนบุคคลและอื่นๆ มีจำนวน 2,285,731 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.0 และวิสาหกิจชุมชน มีจำนวน 85,429 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.8

ด้านของการจ้างงาน SME ในปี 2560 มีจำนวนการจ้างงาน12,155,647 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ82.2 ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ เมื่อจำแนกตามประเภทการจัดตั้งกิจการ พบว่าการจ้างงานนิติบุคคล มีจำนวนการจ้างงาน 7,139,347 คน คิดเป็นร้อยละ 58.7 ของการจ้างงานSME และมีการจ้างงานส่วนบุคคลและอื่นๆ มีจำนวน 5,016,300 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.3 

 

อย่างไรก็ตาม สสวยังคงประมาณการการเติบโตของ GDP SME ในปี 2561ไว้ที่  5.0-5.5% เนื่องจากธุรกิจในภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ตัวแทนธุรกิจการเดินทาง ธุรกิจจัดนำเที่ยวและการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งกิจกรรมการบริการด้านสุขภาพ  ในด้านภาคการผลิต อุตสาหกรรมผักและผลไม้กระป๋อง ผลิตภัณฑ์ในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มน้ำผลไม้ผลไม้กระป๋องเป็นกลุ่มสาขาที่มีอัตราการเติบโตของกำไร รายได้ และ GDP ที่สูง และยังมีแนวโน้มการเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะส่งผลถึงการเติบโตของ SMEs ในสาขาก่อสร้างและสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 มิ.ย. 2561 เวลา : 10:34:01
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 1:18 pm