เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ เรื่อง ราคาน้ำมันดันเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.อยู่ที่ 1.38%YOY ขณะที่ราคาอาหารสดหดตัว


อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 1.38%YOY ชะลอลงจาก 1.49%YOYในเดือนก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยครึ่งแรกของปี 2018 อยู่0.97%YOY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับขึ้นไปที่ 0.83%YOY จาก0.80%YOY ในเดือนก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 0.69%YOY

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นยังคงมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปอย่างต่อเนื่องแต่ราคาอาหารสดกลับมาหดตัว โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 75.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 60.4%YOY ส่งผลให้ดัชนีราคาหมวดพลังงานขยายตัวสูงที่ 9.6%YOYอย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาหมวดอาหารสดกลับมาหดตัวลง 1.75%YOY จากราคาผักและผลไม้สดที่ลดลง 5.9%YOY เป็นหลัก ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์ รวมถึงไข่และผลิตภัณฑ์นมก็ลดลงเช่นกัน

 

 

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 31 เดือน นำโดยดัชนีราคาหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ที่เพิ่มขึ้น 4.1%YOY จาก3.3%YOY ในเดือนก่อน ขณะที่ราคาหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น ราคาหมวดอาหารสำเร็จรูป ราคาหมวดไฟฟ้า น้ำประปาและแสงสว่าง เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น

อีไอซีคาดว่าอัตราอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2018 จะอยู่ที่ 1.3%YOY โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงที่เหลือของปีที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อน โดยอีไอซีมองราคาน้ำมันเฉลี่ยครึ่งปีหลังอยู่ที่ 73.5ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลหรือเพิ่มขึ้น 30%YOY ซึ่งจะส่งผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศและต้นทุนสินค้าและบริการอื่นๆ ขณะที่การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสำหรับบุหรี่และสุราจะยังคงมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อจนถึงเดือนกันยายน นอกจากนี้ ยังต้องจับตาผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่อาจกระทบต่อต้นทุนการผลิตด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารสดอาจยังได้รับแรงกดดันจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสภาพอากาศในปีนี้ที่เอื้ออำนวย

อีไอซีคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยทั้งปี 2018 จะอยู่ที่ 0.7%YOY โดยเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางอ้อมจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นซึ่งมีผลต่อต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปและบริการด้านการขนส่ง ขณะที่ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ มีแนวโน้มปรับขึ้นได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะข้างหน้าจากรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ทั้งรายได้ภาคเกษตรที่เริ่มฟื้นตัวและค่าจ้างนอกภาคเกษตรที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ครัวเรือนยังคงเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการใช้จ่าย ซึ่งอาจทำให้ราคาสินค้าและบริการปรับขึ้นได้ไม่มากนัก


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ก.ค. 2561 เวลา : 17:40:43
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 11:42 pm