การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กรม สบส.เล็งออกกฎหมายคุมกิจการน้ำพุเพื่อสุขภาพ


กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ออกร่างกฎกระทรวงเพื่อส่งเสริมและพัฒนากิจการน้ำพุเพื่อสุขภาพ” เน้นการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงอนุรักษ์  มีระบบคัดกรองผู้รับบริการ บุคลากรต้องมีความรู้ความชำนาญ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ผ่านทางเว็บไซต์ โทรสารและอีเมล

 

 

นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติด้านการบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และสมุนไพรไทย ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามารับบริการเป็นจำนวนมาก สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ ทั้งนี้ กรมสบส.ในฐานะที่กำกับดูแลงานสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ภายใต้พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ..2559 เล็งเห็นถึงความสำคัญที่ต้องดูแลคุณภาพมาตรฐานของกิจการเพื่อส่งเสริมสุขภาพหลายกิจการ เช่น กิจการสปา นวด ซึ่งมีกฎหมายกำกับดูแลแล้ว ส่วนกิจการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ก็กำลังอยู่ในระหว่างการผลักดันกฎหมาย โดยกิจการลำดับต่อไปที่กรม สบส.จะเข้าไปกำกับดูแลและให้การส่งเสริม คือกิจการน้ำพุเพื่อสุขภาพ จึงมีการร่างกฎกระทรวงกิจการน้ำพุเพื่อสุขภาพขึ้น โดยให้นิยามของกิจการดังกล่าวว่าเป็นการนำน้ำพุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มาให้บริการในแหล่งน้ำพุนั้น เพื่อดูแลและเสริมสร้างสุขภาพด้วยการอาบ จุ่ม แช่ หรือฉีดพ่นร่างกาย มีการกำหนดมาตรฐาน 3 ด้าน ได้แก่ สถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการ เช่น การตั้งชื่อต้องไม่โอ้อวดเกินจริง ไม่ทำให้เข้าใจว่ามีการบำบัดรักษาโรค เน้นการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความสะอาดในเชิงอนุรักษ์ ต้องมีป้ายแนะนำโรคหรือสภาวะที่อาจเกิดความเสี่ยงอันตราย และวิธีใช้บริการน้ำพุเป็นภาษาสากลอย่างน้อย 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มีระบบคัดกรองด้านสุขภาพของผู้รับบริการโดยผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพหรือผู้ผ่านการอบรม บุคลากรต้องมีความรู้ ความชำนาญ เป็นต้น รวมไปถึงการกำหนดค่าธรรมเนียม และการชำระค่าธรรมเนียมประกอบกิจการ โดยกรม สบส. ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวงฯ ไปแล้ว 2 ครั้ง มีผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการเข้าร่วมให้ความคิดเห็น และเตรียมสัญจรรับฟังให้ครบทั้ง 4 ภาค

 

 

 

ด้านนายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้อำนวยการกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเชิญประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวงดังกล่าว โดยสามารถแสดงความคิดเห็นได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทางออนไลน์ผ่าน QR Code ที่หน้าเว็บไซต์กรม สบส. หรือเว็บไซต์กองกฎหมาย โทรสารหมายเลข 0 2149 5652 และ E-mail:patthana.law05@gmail.com ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ก.ค. 2561 เวลา : 12:03:55
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 8:04 am