การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กระทรวงมหาดไทย สั่งการทุกจังหวัดเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วม-ดินถล่ม และคลื่นลมแรง


นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือน ประเทศไทย จะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม อีกทั้ง บริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบน จะมีคลื่นสูง 2-4 เมตร เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินการตามแนวทางการเตรียมความพร้อม และแนวทางเผชิญเหตุ

 

 

สำหรับการเตรียมความพร้อม ขอให้ตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ขึ้นในส่วนอำนวยการของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด เพื่อทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ทางด้านสภาวะอากาศ และการจัดการน้ำ เพื่อวิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์สภาวะอากาศ สภาพน้ำท่า น้ำหลาก และ คลื่นลมในทะเลในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเมื่อประเมินแล้วเห็นว่ามีแนวโน้มสูงจะเกิดสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ ให้เสนอผู้มีอำนาจตามกฎหมายสั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย ไปอยู่ในจุดปลอดภัยในทันที และสามารถแจ้งเตือนภัยสู่ประชาชนได้ก่อนจะเกิดสถานการณ์ในพื้นที่

 ส่วนด้านการเผชิญเหตุ ให้ยึดแนวทางการจัดการสาธารณภัยตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในการจัดการภาวะฉุกเฉิน โดยจัดระบบและโครงสร้างศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่แบ่งมอบภารกิจและผู้รับผิดชอบให้ชัดเจนตามสถานการณ์ความรุนแรง และความซับซ้อนของภัย เพื่อให้เกิดเอกภาพและประสิทธิภาพในการควบคุมสั่งการ โดยในการเผชิญเหตุ ให้ทุกจังหวัดให้ความสำคัญกับการประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัยตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ

ทั้งนี้เน้นย้ำแนวทางปฏิบัติ 4 ขั้นตอนเมื่อเกิดสาธารณภัย คือ

 1.ด้านการสื่อสาร ให้มีช่องทางที่สามารถติดต่อสื่อสารกับประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้สำหรับการแจ้งข้อมูลข่าวสาร การรับเรื่องราวร้องทุกข์ การขอรับความช่วยเหลือในด้านต่างๆจากประชาชน

2.ด้านการดำรงชีพและการบรรเทาทุกข์ ให้จัดเตรียมคลังเสบียงอาหารให้มีความพร้อมในการจัดตั้งครัวสนาม โรงครัวเคลื่อนที่ เพื่อช่วยเหลือด้านการดำรงชีพ อาหาร น้ำดื่ม แก่ประชาชนได้ทันที ทั้งนี้ หากพื้นที่ใดมีการจัดตั้งโรงครัวพระราชทานขึ้น ให้บูรณาการทุกหน่วยงานร่วมดำเนินการภายใต้โรงครัวพระราชทานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและโปร่งใส โดยมอบหมายผู้รับผิดชอบดูแลการดำเนินการดังกล่าวอย่างชัดเจน

3.การจัดการทรัพยากรด้านการคมนาคมขนส่ง ให้ปรับปรุงทะเบียนเครื่องจักรกลของจังหวัดให้เป็นปัจจุบัน โดยระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบ การติดต่อประสานงาน ผู้มีอำนาจสั่งการเคลื่อนย้ายยานพาหนะเครื่องจักรกลดังกล่าว เพื่อให้สามารถใช้ในการจัดการสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว

 4.การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลประชาสัมพันธ์ร่วม ให้เป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว สามารถใช้เป็นจุดประสานข้อมูลสถานการณ์ร่วมกันของทุกหน่วยงาน และเป็นช่องทางหนึ่งในการที่ประชาชนจะแจ้งขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ด้วย

โดยหากประชาชนประสบเหตุการณ์สาธารณภัย สามารถประสานและติดต่อขอความช่วยเหลือ ผ่านทางสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ข่าว :  สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ส.ค. 2561 เวลา : 10:25:46
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:35 am