การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
'ยาบ้า' ยังคงเป็นกลุ่มใหญ่ที่ผู้ติดสารเสพติดในภูมิภาคอาเซียนนิยมใช้


ผลจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการกับปัญหาการใช้แอมเฟตามีน ของประเทศ ในภูมิภาคอาเซียน พบว่า แอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า ยังคงเป็นกลุ่มใหญ่ที่ผู้ติดสารเสพติดในภูมิภาคนี้นิยมใช้ ในขณะที่ด้านการดูแลรักษา มีความพยายามดำเนินงานที่ตรงกันในหลายประเทศ คือ การให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในดูแลผู้ป่วยติดยาเสพติดให้มากขึ้น

 

 

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การดูแลจัดการปัญหาการใช้ แอมเฟตามีน (amphetamine) ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ในเวทีการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ประจำปี 2561 มีการศึกษาที่บ่งชี้ และยืนยันว่าการใช้สารเสพติดมีผลต่ออัตราการเกิดปัญหาทางด้านจิตเวช และการใช้สารเสพติดส่งผลกระทบต่อเศรษฐานะทางสังคม และมีคนจำนวนมากที่ยังต้องการความช่วยเหลือ มีข้อมูลตรงกันว่า     70-80% ของผู้ติดยาเสพติด ในประเทศแถบนี้ ติดยาเสพติดประเภท แอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า บางประเทศยังคงมีปัญหารุนแรงในเรื่องการติดเชื้อ HIVจากการใช้ยาเสพติดแบบฉีดเข้าเส้นเลือด บางประเทศยังไม่มีโปรแกรมฟื้นฟูผู้ติด ยาเสพติดที่เหมาะสมเนื่องจากติดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย   และบางประเทศยังมีโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เอื้อ ต่อการรักษาและฟื้นฟู สารเสพติด  

 

 

ส่วนด้านการป้องกันแก้ไขปัญหามีหลากหลายแนวทางในแต่ละประเทศ เช่น การปรับทัศนคติให้มองว่าปัญหาติดยา คือปัญหาทางด้านสุขภาพมากกว่าทางด้านกฎหมายเพื่อลดการเป็นตราบาป , การจัดตั้งหน่วยคัดกรองให้การดูแลและรักษาผู้ใช้ยาเสพติดแบบองค์รวม (One stop center for addiction= OSCA) เพื่อวินิจฉัยโรคร่วมกับการติดยาเสพติด เช่น HIV, โรคตับอักเสบโรคติดเชื้อทาง เพศสัมพันธ์, การพัฒนาความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ เอกชน และ NGO  เป็นต้น ด้านการติดตาม ดูแล ช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลทางด้านจิตใจ (psychosocial treatment) และการช่วยเหลือเบื้องต้นร่วมกับครอบครัว (early intervention & family) และทุกประเทศมีแนวโน้มการดูแล ช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด ไปในแนวทางเดียวกันคือ การให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในดูแลผู้ป่วยติดยาเสพติดให้มากขึ้น

 

 

สำหรับสถานการณ์ และการดูแลผู้ติดสารเสพติดในประเทศไทย  อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ติดสารเสพในประเทศประมาณ 3 แสนคน  ช่วงที่มีการติดยาเสพติดสูงที่สุด คือ อายุ 18-24 ปี คิดเป็น30% โดยส่วนใหญ่ประมาณ 75% ใช้สารแอมเฟตามีน  และโดยที่ปัญหาการใช้สารเสพติดก่อให้เกิดความเจ็บป่วยทางจิตเวช  กรมสุขภาพจิต ได้ดำเนินการเพื่อลดความรุนแรงที่เกิดจากการใช้ สารเสพติด โดยจัดการอบรมอาสาสมัคร ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต มีสายด่วน 1669 สำหรับแจ้งเหตุหากพบผู้ป่วยจิตเวช ฉุกเฉิน ทั้งนี้ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายในปี .. 2018 ให้การหาย ไม่กลับเป็นซ้ำในผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มติดสารเสพติดในระยะ 3 เดือนต้องมากกว่า ร้อยละ 90 โดยกำหนดให้มีการติดตามการรักษาแบบผู้ป่วยใน ทุก 2 เดือน และผู้ป่วยนอกอีก 2 เดือน ตลอดจนมีการเปลี่ยนจากการดูแลในโรงพยาบาลเป็นอาศัยการดูแลจากชุมชนเป็นหลัก (community base treatment)


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ส.ค. 2561 เวลา : 18:16:09
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 3:18 pm