เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม)


วันนี้ (28 สิงหาคม 2561) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) .. .... ซึ่งเป็นการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เนื่องจากในปัจจุบัน ดอกเบี้ยที่ได้รับจากการฝากเงินหรือผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนโดยตรงในตราสารหนี้มีภาระภาษีที่มากกว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวม อันทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในระบบภาษี ดังนั้น เพื่อสร้างความเป็นธรรม กระทรวงการคลังได้พิจารณาปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมให้มีภาระภาษีเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกันกับการฝากเงินหรือการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง โดยอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ทำให้ประชาชนมีภาระในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพิ่มขึ้น จึงได้กำหนดให้กองทุนรวมมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เฉพาะในส่วนของรายได้ประเภทดอกเบี้ย ส่วนลด (Discount) และเงินได้ที่มีลักษณะเดียวกันกับดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ 15 โดยกำหนดให้ผู้จ่ายเป็นผู้หักภาษีเงินได้   ที่จ่าย และกองทุนรวมไม่ต้องมีภาระในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้อีก ยกเว้นกรณีที่ได้รับเงินได้ดังกล่าวจากต่างประเทศ ทั้งนี้ สำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งจำนวน สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ได้ผ่านการเสียภาษีมาแล้ว 

 


 

ในคราวเดียวกันนี้ ยังได้ปรับปรุงการจัดประเภทเงินได้ในประมวลรัษฎากร เพื่อให้ภาระภาษีของนักลงทุนต่างประเทศที่ได้รับผลตอบแทนจากกองทุนรวมเท่าเทียมกันกับภาระภาษีของนักลงทุนในประเทศที่เสียอยู่แล้วในปัจจุบัน อันจะช่วยเพิ่มความเป็นธรรมในระบบภาษีและไม่บิดเบือนรูปแบบของการลงทุน 

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) .. .... ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการวันนี้มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ .. 2535 มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 15 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด และเมื่อมีผลใช้บังคับแล้ว กระทรวงการคลังจะเสนอกฎหมายลำดับรอง เพื่อให้การดำเนินการตามหลักการข้างต้นครบถ้วนสมบูรณ์ โดยกฎหมายลำดับรองดังกล่าวมีหลักการ อาทิ

- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กองทุนรวมสำหรับรายได้อื่นๆ อันจะทำให้กองทุนรวมมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะรายได้จากดอกเบี้ย ส่วนลด และเงินได้ที่มีลักษณะเดียวกันกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ ซึ่งผู้จ่ายเงินได้จะเป็นผู้หักภาษี ที่จ่ายและนำส่งกรมสรรพากร โดยกองทุนรวมไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก ยกเว้นกรณีที่กองทุนรวมได้รับเงินได้ดังกล่าวจากต่างประเทศ กองทุนรวมต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีในส่วนของรายได้จากต่างประเทศนั้น แต่สามารถนำภาษีเงินได้ที่เสียไปในต่างประเทศมาเป็นเครดิตภาษีหักออกจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องเสียในประเทศไทย แต่ต้องไม่เกินกว่าจำนวนภาษีในประเทศไทย

- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สำหรับรายได้ทั้งหมด เพื่อเป็นการส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณอายุ

- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กองทุนรวมสำหรับการฝากเงินหรือการลงทุนในตราสารหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายมีผลใช้บังคับ รวมถึงดอกเบี้ยและส่วนลดของตราสารหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายมีผลใช้บังคับด้วย 

- ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรให้กับนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ได้รับจากกองทุนรวมตราสารหนี้ เพื่อไม่ให้มีภาระภาษีซ้ำซ้อน

นอกจากนั้น จะมีการเสนอกฎหมายลำดับรองยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้การประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มีภาระภาษีเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกันกับการประกอบธุรกิจในรูปแบบบริษัท

อนึ่ง กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรอยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และสมาคมบริษัทจัดการลงทุนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนรวมที่เสนอขายเฉพาะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กองทุนรวมดังกล่าวหากมีการจัดตั้งขึ้น เพื่อให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งปัจจุบันมีการลงทุนในกองทุนรวมไม่มีภาระภาษี อันจะเป็นการส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณอายุเช่นเดียวกันกับกรณี RMF 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ส.ค. 2561 เวลา : 16:56:23
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 9:08 am