แบงก์-นอนแบงก์
กสิกรไทยและวีซ่าร่วมโครงการนำร่องพัฒนาระบบการชำระเงินระหว่างธุรกิจ


วีซ่า แถลงถึงความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยในการริเริ่มโครงการนำร่อง “วีซ่า บีทูบี คอนเนค (Visa B2B Connect)” ซึ่งวีซ่าได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้สถาบันการเงินสามารถประกอบธุรกรรมชำระเงินข้ามประเทศระหว่างธุรกิจด้วยความไม่ยุ่งยาก รวดเร็วและปลอดภัย รวมทั้งมีความโปร่งใสมากขึ้น โดยโครงการนำร่องดังกล่าวขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบกล่องทรายทดสอบธุรกรรม (regulatory sandbox) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ นอกเหนือจากธนาคารอื่นๆ อีกหลายแห่งทั่วโลก

 

 

 

คุณสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่าประจำประเทศไทย กล่าวว่า “เราภูมิใจที่มีตัวแทนธนาคารจากประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมโครงการนำร่องนี้ Visa B2B Connect คือแพลตฟอร์มการทำธุรกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ โดยสร้างอยู่บนพื้นฐานเทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับวิสาหกิจที่ออกแบบมาเพื่อดำเนินธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศที่มีมูลค่าสูงระหว่างธนาคาร ในนามของลูกค้าองค์กร โดยขั้นตอนการทำธุรกรรมจะอยู่ภายใต้การบริหารโดยวีซ่าแบบครบวงจร พร้อมทั้งมีการนำเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย การกำกับดูแล และเทคโนโลยีรายการเดินบัญชีแบบกระจายตัว หรือ Distributed Ledger”

คุณศิริพร วงศ์ตรีภพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “ธนาคารกสิกรไทยมุ่งเน้นสรรหานวัตกรรมใหม่แบบครบวงจรเพื่อให้บริการแก่ลูกค้า และด้วยความเป็นพันธมิตรกับวีซ่า เราภูมิใจที่จะได้มีส่วนร่วมในโครงการนำร่อง Visa B2B Connect ซึ่งนับเป็นก้าวแรกในบริบทใหม่ของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้สำหรับการทำธุรกรรมชำระเงินข้ามพรมแดน ในฐานะผู้บุกเบิก เราเชื่อว่าธนาคารจะเป็นผู้นำในตลาดซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าองค์กรของธนาคาร เนื่องจากการทำธุรกรรมการชำระเงินจะมีความปลอดภัยมากขึ้น 

เรามุ่งมั่นร่วมมือกับธนาคารพันธมิตรของเราเพื่อให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ เครื่องมือต่างๆ และความเชี่ยวชาญของวีซ่า ที่จะสามารถนำไปสู่การเติบโตทางธุรกิจและความสำเร็จต่อไป นอกจากนี้ด้วยความสามารถทางเทคโนโลยี และเครือข่ายของ วีซ่า เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับธนาคารกสิกรไทยในการเสริมสร้างวิธีการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและไร้รอยต่อในตลาดธุรกิจ หรือ B2B ทั่วโลก” คุณสุริพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

ด้วย Visa B2B Connect วีซ่าตั้งใจที่จะพัฒนาการชำระเงินในรูปแบบ B2B ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ด้วยการใช้เวลาที่สั้นลงในการประมวลผล และเพิ่มชัดเจนในการติดตามขั้นตอนกระบวนการการทำธุรกรรมให้สูงขึ้น โดยผลลัพธ์ที่จะมีต่อลูกค้าธนาคารคือความสามารถในการลดต้นทุน และทรัพยากรที่ธนาคารและลูกค้าจำเป็นต้องใช้ในการรับส่งข้อมูลการใช้จ่ายทางธุรกิจได้อย่างมหาศาล


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ก.ย. 2561 เวลา : 10:31:37
16-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 16, 2024, 1:14 pm