ยานยนต์
กทพ.โชว์ศักยภาพทางพิเศษที่เข้าระดมทุนผ่าน TFFIF ต่อยอดลงทุนครั้งใหญ่รอบ 10 ปี ขยายโครงข่ายอีก 2 สายทาง


กทพ.” เปิดศูนย์ควบคุมทางพิเศษฉลองรัช โชว์ศักยภาพทางพิเศษที่จะเข้าระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ครั้งแรก โดยโอนสิทธิการรับรายได้ 45% ของรายได้ค่าผ่านทางรวมสุทธิที่จัดเก็บได้จากทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถีให้แก่กองทุน 30 ปีนับจากวันแรกที่กองทุนมีสิทธิในรายได้ เผยสถิติปริมาณรถที่ใช้บริการย้อนหลังเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% เพราะเป็นเส้นทางสำคัญเชื่อมต่อการเดินทางในกรุงเทพฯ และรองรับโครงการอีอีซี ด้านผู้บริหารระบุถือเป็นการระดมทุนเพื่อนำมาต่อยอดขยายโครงข่ายทางพิเศษอีก 2 สายทาง เป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของ กทพ. รอบ 10 ปี

 

 

 

 

ดร.สุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถีที่เปิดให้บริการแก่ประชาชนในปัจจุบัน เป็นทรัพย์สินของ กทพ.ที่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) จะเข้าลงทุนครั้งแรกในสิทธิในการรับรายได้ร้อยละ 45 ของรายได้ค่าผ่านทางรวมสุทธิที่จัดเก็บได้เป็นระยะเวลา 30 ปีนับจากวันแรกที่กองทุนมีสิทธิในรายได้ดังกล่าว และถือเป็นทรัพย์สินที่มีศักยภาพสูงในการสร้างรายได้จากการจัดเก็บค่าผ่านทาง โดยทางพิเศษทั้ง 2 สายทางดังกล่าวมีระยะทางรวม 83.2 กิโลเมตร และเป็นเส้นทางที่สำคัญในการเชื่อมต่อการเดินทางในกรุงเทพฯ และการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ และชลบุรี

ทั้งนี้ ทางพิเศษทั้ง 2 สายทางดังกล่าว มีปริมาณรถยนต์ที่ใช้บริการในช่วงที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.7 ต่อปีนับตั้งแต่ปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558 ถึงปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 โดยมีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 369,464 คันต่อวัน สำหรับรอบบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 และเฉลี่ย 386,557 คันต่อวัน สำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 โดยมีรายได้ค่าผ่านทาง 4,672 ล้านบาท สำหรับรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 และ 3,593  ล้านบาท สำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561

 

โดยรายละเอียดของทางพิเศษทั้ง 2 สายทางนั้น ประกอบด้วย  ทางพิเศษฉลองรัชมีระยะทาง 28.2 กิโลเมตร มีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (บริเวณจตุโชติ) และไปบรรจบกับทางพิเศษเฉลิมมหานครบริเวณอาจณรงค์ และทางพิเศษบางนาอาจณรงค์ ซึ่งถือเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมืองทางด้านเหนือของกรุงเทพฯ เข้าสู่ย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ โดยเป็นทางพิเศษขนาด 6 ช่องจราจร มีอาคารด่านเก็บค่าผ่านทางทั้งสิ้น 15 หลัง ตลอดแนวเส้นทาง

 

ทางพิเศษฉลองรัชมีปริมาณการจราจรโดยเฉลี่ยต่อวันสำหรับรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 อยู่ที่ 221,925 คัน และมีความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรได้วันละประมาณ 350,000 คัน  โดยปริมาณการจราจรบนทางพิเศษฉลองรัชมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6.1  ต่อปีนับตั้งแต่ปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน  2558 จนถึงปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 โดยรายได้ค่าผ่านทางเพิ่มขึ้นที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6.0 ต่อปี ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน

 

ส่วนทางพิเศษบูรพาวิถีมีระยะทาง 55 กิโลเมตร ถือเป็นหนึ่งในทางยกระดับที่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางที่มีระยะทางยาวที่สุดในประเทศไทย โดยเป็นทางพิเศษขนาด 6 ช่องจราจร เริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อปลายทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ช่วงบางนา) และสิ้นสุดที่บริเวณก่อนถึงทางเลี่ยงเมืองชลบุรี มีอาคารด่านเก็บค่าผ่านทางทั้งสิ้น 20 หลังตลอดแนวเส้นทาง มีปริมาณการจราจรโดยเฉลี่ยต่อวันสำหรับรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 อยู่ที่ 147,539 คัน เทียบกับความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรที่ 360,000 คันต่อวัน  โดยปริมาณการจราจรบนทางพิเศษบูรพาวิถีมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2.7 ต่อปีนับตั้งแต่ปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558 จนถึงปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 และมีรายได้ค่าผ่านทางเพิ่มขึ้นที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 0.7 ต่อปี ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน

ความสำคัญของทางพิเศษบูรพาวีถีคือเป็นเส้นทางเชื่อมต่อไปยังจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ และเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ทั้งนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง อีกทั้งทางพิเศษบูรพาวิถียังได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดที่จังหวัดระยอง  และโครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ที่เป็นโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจครั้งใหม่ของภาครัฐที่จะขับเคลื่อนการเติบโตครั้งสำคัญของไทย    

หลังจากที่นำทรัพย์สินเข้าระดมทุนผ่านกองทุน TFFIF  กทพ.ยังคงเป็นผู้ที่ดูแลและบริหารทางพิเศษทั้ง 2 สายทางเช่นเดิม โดย กทพ.จะนำเงินที่ได้จากการโอนสิทธิในรายได้ดังกล่าวไปใช้ขยายโครงการก่อสร้างทางพิเศษ 2 สายทาง ได้แก่ 1.โครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และ 2.โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกและส่วนต่อขยายทดแทน ตอน N1 เพื่อบริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

การลงทุนขยายทางพิเศษอีก 2 สายทางนั้น ถือว่าเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปีของกทพ. ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ประเทศ แบ่งเบาภาระทางการคลังของรัฐบาล   ช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาวให้แก่ กทพ. รวมถึงช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อทางพิเศษเพื่อให้บริการกับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพดร.สุชาติ กล่าว


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ก.ย. 2561 เวลา : 15:37:43
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 4:13 am