การตลาด
สกู๊ป "เถ้าแก่น้อย" ลดเสี่ยง "ตลาดสาหร่ายไทย" แข่งดุ เล็งแตก "ร้านอาหาร" เสริมทัพ


แม้ว่าปัจจุบัน “เถ้าแก่น้อย” จะครองส่วนแบ่งการตลาดสาหร่ายแปรรูปเป็นอันดับ 1 ด้วยการครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 70% จากมูลค่าตลาดรวมกว่า 3,000 ล้านบาท แต่จากการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดสาหร่ายแปรรูปในประเทศไทย เนื่องจากมีผู้เล่นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เถ้าแก่น้อยต้องออกมาปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการมองหาโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ และธุรกิจที่เถ้าแก่น้อยมองว่ายังมีโอกาสให้เข้าไปชิงส่วนแบ่งการตลาด คือ ร้านอาหารญี่ปุ่น


เหตุผลที่ทำให้ เถ้าแก่น้อย สนใจที่จะแตกไลน์ธุรกิจเข้ามาในธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นนั้น แม้ปัจจุบันธุรกิจนี้จะมีผู้เล่นเป็นจำนวนมาก คือ คนไทยมีความชื่นชอบในอาหารญี่ปุ่น และวัฒนธรรมความเป็นญี่ปุ่น จึงทำให้ปัจจุบันตลาดรวมร้านอาหารญี่ปุ่นมีมูลค่ามากถึง 18,000 ล้านบาท โดยในแต่ละปีตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นจะมีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูง

จากโอกาสที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ เถ้าแก่น้อย เล็งเห็นโอกาสที่จะเข้าทำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผน ซึ่งรูปแบบของการทำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น เถ้าแก่น้อย  มองว่าเริ่มต้นที่การซื้อลิขสิทธิ์ร้านอาหารจากประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก เพราะจะสามารถสร้างแบรนด์ในประเทศไทยได้ง่ายกว่าการพัฒนาแบรนด์ขึ้นมาด้วยตัวเอง

 
 
 
 
 
นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นที่บริษัทมองไว้มีความเป็นไปได้ทั้งการนำแบรนด์ร้านอาหารคาวและของหวานเพื่อสุขภาพเข้ามาทำตลาด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ เพื่อให้พร้อมมเปิดให้บริการได้ในปลายปี 2561 ซึ่งหากได้ผลตอบรับที่ดี บริษัทก็จะขยายธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นต่อเนื่องทันที เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาธุรกิจจากสาหร่ายแปรรูปเพียงอย่างเดียว

ส่วนความคืบหน้าการร่วมลงทุน (Joint Venture Agreement) กับบริษัท มารุเอสุ แฟคโทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท มารุอิสุ (ไทยแลนด์) จำกัด (กลุ่มบริษัทมารุอิสุ) เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท เถ้าแก่น้อย มารุอิสุ (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตขนมขบเคี้ยว ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะสามารถออกสินค้าได้ในต้นปี 2562 จากเดิมคาดว่าจะสามารถออกสินค้าได้ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ส่วนโรงงานในสหรัฐอเมริกาที่ซื้อเข้ามาเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ขณะนี้ได้เริ่มทำการผลิตสินค้า และได้เริ่มนำสินค้าเข้าทำตลาดแล้วเมื่อช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันเริ่มมียอดขายเข้าบางส่วน โดยภายในปี 2566 คาดว่าจะมีรายได้จากสหรัฐอเมริกาที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี แม้ว่า เถ้าแก่น้อย จะหันมาให้ความสนใจขยายธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น แต่ธุรกิจหลักในการสร้างรายได้ยังคงเป็นธุรกิจสาหร่ายแปรรูป โดยยังคงมุ่งมั่นสร้างแบรนด์ ทำการตลาด และโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

 
 
 
 
 
นอกจากนี้ ล่าสุดยังได้มีการขยายสาขาใหม่ของร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ บนพื้นที่ขนาดใหญ่ขึ้นภายใต้ชื่อ “ร้านเถ้าแก่น้อย แลนด์ พลัส” ที่ เซ็นเตอร์พอยท์ สยามสแควร์ ใจกลางแหล่งช้อปปิ้ง ให้เป็นแลนด์มาร์คสำหรับนักท่องเที่ยวในการมอบความคุ้มค่าและความสนุกให้ลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าภายในร้าน

ทั้งนี้ เพื่อให้ร้านเถ้าแก่น้อย แลนด์ พลัส เป็นที่รู้จักมากขึ้น  จึงได้มีการดึง "เบลล่า - ราณี แคมเปน" นักแสดงสาวชื่อดังมาเป็นพรีเซนเตอร์  เนื่องจาก เบลล่า- ราณี ถือเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีนที่ชื่นชอบในละครเรื่องบุพเพสันนิวาส

นายอิทธิพัทธ์ กล่าวต่อว่า การดึง เบลล่า-ราณี มาเป็นพรีเซนเตอร์ในการโปรโมทร้านเถ้าแก่น้อย แลนด์ พลัส ซึ่งถือเป็นร้านต้นแบบใหม่ในครั้งนี้  เพราะบริษัทต้องการสร้างร้านเถ้าแก่น้อย แลนด์ พลัส ให้เป็นหนึ่งใน landmark สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รวมทั้งชาวไทยที่ต้องการซื้อของฝากของที่ระลึกต่างๆ ไม่ว่าจะนำไปใช้เอง หรือมอบให้กับบุคคลอันเป็นที่รัก เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว โดยทางเถ้าแก่น้อยแลนด์ ต้องการส่งมอบความคุ้มค่าและความสนุกให้กับลูกค้าที่มาซื้อสินค้าในร้าน นอกเหนือจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทขนม ที่เป็นหนึ่งในจุดขายหลักของร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์สาขาปัจจุบันแล้ว

สำหรับจุดเด่นของร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ พลัส รูปแบบใหม่นี้ นักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายประเภท รวมถึงสินค้าชั้นนำของแท้ ของดี ของเด่นที่ขึ้นขื่อของไทย ที่เหมาะแก่การเป็นของฝากได้ครบ จบในที่เดียวเลย เป็น One Stop Shopping เช่น ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสุขภาพ สปา ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว รวมไปจนถึงผลิตภัณฑ์สิ่งทอและของฝาก และของที่ระลึกอื่นๆ
 

 
 
 
 
นายอิทธิพัทธ์ กล่าวอีกว่า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่นำมาจำหน่ายภายในร้าน เป็นสินค้าที่มีคุณภาพผ่านการคัดสรรมาอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าจะได้ของฝากที่ดีที่สุด นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์และการบริการต่างๆ หนึ่งในบริการที่ทางร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์พลัส ได้พัฒนาขึ้น เพื่อเพิ่มความพึงพอใจให้กับลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าในร้าน คือ ทางเรายังมี จุดบริการ Try Me – Try Before you buy เพื่อให้ลูกค้าได้ทดลองชิม ทดลองสินค้า ให้มั่นใจ ก่อนที่จะเลือกซื้อกลับไปอีกด้วย

ทั้งนี้  เพื่อให้ร้านเถ้าแก่น้อย แลนด์ พลัส ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทั่วประเทศ  เถ้าแก่น้อย ตั้งความหวังไว้ว่าภายใน 3 ปีนับจากนี้ จะขยายร้านเถ้าแก่น้อย แลนด์ พลัส รูปแบบใหม่นี้ไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ อย่างน้อย 80 สาขาทั่วประเทศ โดยรูปแบบของร้านจะมีขนาดพื้นที่เฉลี่ยตั้งแต่ 50-250 ตร.ม. หรืออาจจะใหญ่กว่านั้น ขึ้นกับพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุน

จากแผนการดำเนินงานดังกล่าว นายอิทธิพัทธ์ ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน 4 ปีนับจากนี้ (2561-2564) จะมีรายได้จากร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ เติบโตเป็น 1,000 ล้านบาท จากปีนี้คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 300 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการเติบโตตามการขยายสาขาของร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ ที่ต้องการจะเพิ่มร้านเถ้าแก่น้อยเป็น 100 สาขาในปี 2564 แบ่งเป็น ร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ พลัส จำนวน 40 สาขา ,ร้านเถ้าแก่น้อย มินิ 30 สาขา และร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ 30 สาขา ภายใต้งบลงทุนรวม 150 - 200 ล้านบาท

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 พ.ย. 2561 เวลา : 21:27:54
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 3:38 am