การตลาด
อเมซอน ผู้นำการใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนา


การพัฒนาประเทศให้ เติบโตได้อย่างยั่งยืนในยุคปัจจุบัน  จำเป็นที่จะต้องมีการวิจัยและพัฒนา  ซึ่งบริษัทชั้นนำของโลกอย่างอเมซอนและแอปเปิล  ก็ทุ่มเงินให้กับการวิจัยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

 

 

โดยผลการศึกษา Global Innovation 1000 Study  ฉบับที่ 14 ทำการวิเคราะห์การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ของบริษัทมหาชนที่ใหญ่ที่สุดทั่วโลกจำนวน 1,000 แห่ง  แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการลงทุนด้านนวัตกรรมว่า มีผลกระทบต่อกลยุทธ์  เพื่อการเติบโตในระยะยาวและความมั่นใจของผู้บริหารในการดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ รายงานของ Strategy&บริษัท PwC ระบุว่า มูลค่าการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาทั่วโลกในปี 2561 เพิ่มขึ้น 11% อยู่ที่ 7.82 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 25.97 ล้านล้านบาท) โดยการใช้จ่ายเติบโตเพิ่มขึ้นในทุกทวีปทั่วโลกและเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม นำโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน (34%) และยุโรป (14%) ซึ่งมีการใช้จ่ายเติบโตในอัตราสองหลัก ส่วนอเมริกาเหนือ (7.8%) และญี่ปุ่น (9.3%) เติบโตในตัวเลขหลักเดียว ขณะที่ความเข้มข้นของการวิจัยและพัฒนา (R&D Intensity) โดยรวม ซึ่งใช้วัดมูลค่าการใช้จ่ายต่อยอดขาย ยังคงเติบโตในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.5%

 

นาย แบร์รี่  เจรูเซลสกี้ หัวหน้าสายงานเทคโนโลยีและกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมของ Strategy& บริษัท PwC ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า "มาตรฐานความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถูกยกระดับให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จากการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงในศตวรรษที่ 21  แต่แม้จะมีการลงทุนจะอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ผลจากการศึกษาในครั้งนี้ ยังคงเป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่า   การมีนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถหาซื้อได้ด้วยการทุ่มเงินเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลมาจากความเอาใจใส่ต่อการวางกลยุทธ์ที่ใช่ การมีวัฒนธรรมองค์กร  และการมีส่วนร่วมของผู้บริหารระดับสูง ประกอบกับข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า และการปฏิบัติอย่างมีวินัยตลอดทั่วทั้งวงจรนวัตกรรมขององค์กร" 

ทั้งเมื่อประเมินเป็นรายอุตสาหกรรมพบว่า  จำนวนขององค์กรผู้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในระดับสูงเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึงปี 2560 ในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมผู้บริโภค อุตสาหกรรมสุขภาพ อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมการบินและยุทโธปกรณ์ ในทางตรงกันข้าม กลุ่มอุตสาหกรรมที่จำนวนขององค์กรผู้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และพลังงาน อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์และอินเทอร์เน็ต

ผลการศึกษา Global Innovation 1000 Study ของ Strategy& ทำการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของบริษัทจดทะเบียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกจำนวน 1,000 ราย โดยการศึกษาครั้งนี้ ถือเป็นการศึกษาครั้งที่ 14 ซึ่งผลการศึกษาที่สำคัญ ได้แก่

 - อเมซอนยังคงเป็นผู้นำที่มีการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 2ในขณะที่ซาโนฟี่ และซีเมนส์กลับเข้ามาติดอันดับ 20 บริษัทที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุดในปีนี้

 - แอปเปิล กลับมาครองแชมป์บริษัทด้านนวัตกรรมเบอร์ 1 ของโลกจากอัลฟาเบท ขณะที่เน็ตฟลิกซ์ติด 10 อันดับแรกเป็นครั้งแรก

อุตสาหกรรมผู้บริโภคแซงหน้าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยมีการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาในปีนี้ เติบโตรวดเร็วที่สุดเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (26% เปรียบเทียบ 20.6%)

อุตสาหกรรมสุขภาพ จะกลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในปี 2563

 - อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสุขภาพ และอุตสาหกรรมยานยนต์ มีค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนารวมกันคิดเป็น 60% ของการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของโลกในปีนี้

จีนและยุโรปเห็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนบริษัทในกลุ่ม 1,000 บริษัทชั้นนำที่มีค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา ในขณะที่อเมริกาเหนือ (-5%) และญี่ปุ่น (-6%) มีจำนวนบริษัทที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมลดลง

 

 

ด้าน นางสาว วิไลพร  ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า   "ตัวเลขการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริหารทั่วโลกมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสินค้าและบริการของตนเองให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ในอดีต การให้ความสำคัญของงานด้านการวิจัยและพัฒนาถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเพียงไม่กี่กลุ่ม แต่ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าแทบทุกอุตสาหกรรมต่างแสดงความต้องการในการที่จะลงทุนและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการของตัวเองให้สอดรับกับสภาพการแข่งขัน คู่แข่ง และภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป"

"สำหรับประเทศไทยนั้น   จากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีให้กับลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนพบว่า หลายๆ องค์กร โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่มีความตื่นตัวและมีความพร้อมที่จะลงทุนในการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เอไอ การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง หรือ บล็อกเชน มาประยุกต์ให้กับองค์กรของตน แต่กุญแจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้การวิจัยและพัฒนาสำเร็จได้ ไม่ใช่เพียงแค่เม็ดเงินลงทุนเท่านั้น แต่คือ การรู้จักเลือกว่าเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมไหนที่เหมาะสมที่องค์กรควรจะหันมาพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เกิดผลคุ้มค่าต่อตัวธุรกิจในระยะยาว โดยไม่จำเป็นที่จะต้องลงทุนจำนวนมหาศาล แต่ผู้บริหารจะต้องมี Mindset ในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ดิจิทัลอย่างแท้จริง" นางสาว วิไลพร กล่าวสรุป


LastUpdate 15/11/2561 01:19:48 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:51 pm