เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
พาณิชย์ เผยไทยลงนามความร่วมมือกระชับความสัมพันธ์เศรษฐกิจยูเรเชีย


นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการพบหารือกับนางทัตยานา วาโลวายา รัฐมนตรีด้านการบูรณาการและเศรษฐกิจมหภาคของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ณ กระทรวงพาณิชย์ ว่าการหารือครั้งนี้สืบเนื่องจากนางทัตยานาได้ร่วมคณะของประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเชีย (นายทิกราน ซาร์กสยาน) เยือนไทย เพื่อลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union :EAEU) เพื่อขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน ฝ่ายไทยและสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มสหภาพศุลกากรของสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน) จึงได้ประชุมหารือเพื่อร่วมกำหนดแผนการดำเนินงานภายใต้บันทึกความร่วมมือดังกล่าว


นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ในการหารือครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการค้าเพื่อให้เกิดความเข้าใจในนโยบายและกฎระเบียบทางการค้าของกันและกันมากขึ้น เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า การคุ้มครองผู้บริโภค มาตรการสุขอนามัยพืชและสัตว์ กฎระเบียบทางเทคนิค และกฎระเบียบด้านการลงทุน เป็นต้น รวมทั้งสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน 

โดยในปี 2562 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีแผนที่จะผนึกกำลังกับสถานทูตของประเทศยูเรเชียในประเทศไทยจัดสัมมนา เรื่อง “Eurasian Economic Union : EAEU-in-Action” ในเดือนมีนาคม 2562 เพื่อเชิญผู้เชี่ยวชาญจาก EAEU มาบรรยายให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทย ก่อนที่จะนำคณะนักธุรกิจไทยเยือนประเทศ EAEU ได้แก่ เมืองวลาดีวอสตอค ประเทศรัสเซีย ในช่วงเดือนสิงหาคม 2562 เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าของไทย และเพื่อต่อยอดธุรกิจในรัสเซียและเอเชียกลาง โดยมีสินค้าเป้าหมาย เช่น อาหาร เครื่องสำอาง สมุนไพร และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น นอกจากนี้ เนื่องจากประเทศในกลุ่ม EAEU เป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย ฝ่ายไทยจึงได้เชิญชวนให้ EAEU นำคณะนักธุรกิจเยือนไทยและพิจารณาลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในสาขาที่ประเทศสมาชิก EAEU มีความเชี่ยวชาญ และสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย (S-curve) อีกด้วย เช่น อุตสาหกรรมดิจิตัล โดยเฉพาะด้านซอฟแวต์ อากาศยาน ระบบขนส่งทางราง เครื่องจักรและอุปกรณ์ เทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี เป็นต้น

นายสนธิรัตน์ เสริมว่า สำหรับพิธีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเชีย ซึ่งจัดขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ณ ทำเนียบรัฐบาล เป็นการลงนามระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย และรัฐมนตรีด้านการบูรณาการและเศรษฐกิจมหภาคของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเชีย (นางทัตยานา) โดยมีนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเชีย ร่วมเป็นสักขีพยาน 

ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับประเทศไทย ในการกระชับความสัมพันธ์ไทย-ยูเรเชีย ให้แนบแน่นมากยิ่งขึ้น เพื่อมุ่งขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก EAEU ตามนโยบายการค้าระหว่างประเทศของไทย ที่มุ่งแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุนในตลาดใหม่ ตลอดจนพัฒนาไปสู่การสร้างความร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำ FTA  ในอนาคต และเพิ่มช่องทางในการเชื่อมโยงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทยกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) หรือเส้นทางสายไหมใหม่ของจีนที่จะเชื่อมโยงเส้นทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ซึ่งประเทศสมาชิก EAEU ตั้งอยู่บนเส้นทางนี้ด้วย

ในปี 2560 การค้าไทย และ EAEU มีมูลค่า 3,318 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นลำดับที่ 27 ของไทย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 58.91 โดยไทยส่งออก 1,099 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า 2,190 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2561 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 2,794.07 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 26.59 โดยไทยส่งออก 941.84 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า 1,852.53 ล้านเหรียญสหรัฐ 

สินค้าที่ไทยส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และเครื่องยนต์ เป็นต้น สินค้าที่ไทยนำเข้าสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น 

ในด้านการลงทุน ปี 2560 ประเทศสมาชิก EAEU มีการลงทุนในไทย 376 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI 2 โครงการ มูลค่า 2,713 ล้านบาท สำหรับธุรกิจรายสำคัญที่เข้ามาลงทุนในไทย คือ บริษัทไทยสเตอร์เจียน (ร่วมทุนไทย-รัสเซีย) ธุรกิจการทำฟาร์มเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนและผลิตไข่ปลาคาเวียร์ มูลค่า 57 ล้านบาท

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 พ.ย. 2561 เวลา : 14:11:22
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 12:39 am