เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"พาณิชย์"เผยการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่ FTA ขยายตัวต่อเนื่องในปี 61


“พาณิชย์”เผยการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่ FTA ขยายตัวต่อเนื่องในปี 61 เชิญชวนผู้ประกอบการเช็คข้อมูลอัตราภาษีศุลกากรเพื่อใช้สิทธิ FTA ขยายตลาดและลดต้นทุนการผลิต

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยกับประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA)ด้วย ในช่วง 10 เดือนแรก(มกราคม-ตุลาคม)ของปี 2561 พบการค้ายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศคู่ FTA ที่ไทยมีมูลค่าการค้าสูงสุด 5 อันดับแรก คือ (1) อาเซียน มีมูลค่าการค้า 95.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล (2) จีน มีมูลค่าการค้า 66.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และยางพารา

 
(3)ญี่ปุ่นมีมูลค่าการค้า 50.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกล และ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ (4) ออสเตรเลีย มีมูลค่าการค้า 14.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบเม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋อง และผลิตภัณฑ์ยาง (5) เกาหลี มีมูลค่าการค้า 11.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกของไทย เช่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการติดตามการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2561 พบว่า ไทยใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกไปประเทศคู่ค้า เป็นมูลค่าส่งออกภายใต้สิทธิสูงสุดตามลำดับ ดังนี้ (1) อาเซียน มูลค่า 19.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 64.4 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ (2) จีน มูลค่า 13.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 90.7 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ (3) ออสเตรเลีย มูลค่า 7.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 97.9 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ

(4) ญี่ปุ่น มูลค่า 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 91.1 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ และ (5) อินเดีย มูลค่า 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 58.3 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ เป็นต้น ขณะเดียวกันไทยใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในการนำเข้าจากประเทศคู่ค้า เป็นมูลค่าการนำเข้าภายใต้สิทธิสูงสุดตามลำดับ ดังนี้ (1) จีน มูลค่า 9.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 26.4 ของการนำเข้าจากจีน (2) อาเซียน มูลค่า 6.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 20.3 ของการนำเข้าจากอาเซียน (3) ญี่ปุ่น มูลค่า 6.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 23.4 ของการนำเข้าจากญี่ปุ่น (4) เกาหลีใต้ มูลค่า 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 26.9 ของการนำเข้าจากเกาหลีใต้ และ (5) ออสเตรเลีย มูลค่า 0.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 12.8 ของการนำเข้าจากออสเตรเลีย เป็นต้น

นางอรมน เสริมว่า จากการประเมินพบว่า ผู้ประกอบการไทยยังคงใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA กับบางประเทศน้อยอยู่ โดยเฉพาะในการส่งออกไปอาเซียนและอินเดีย และในการนำเข้าส่วนใหญ่ผู้นำเข้าใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA อยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 26 ของการนำเข้า จึงขอเชิญผู้ประกอบการเช็คข้อมูลอัตราภาษีศุลกากรระหว่างไทยกับประเทศคู่ FTA ได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ http://ftacenter.dtn.go.th หรือศูนย์ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือหมายเลข 02-507-7555 และอีเมล์ ftacenter@dtn.go.th เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรที่ไทยตกลงไว้กับประเทศคู่ FTA ในการส่งออก-นำเข้ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจและขยายโอกาสทางการค้าของไทย    
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ธ.ค. 2561 เวลา : 09:42:29
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 9:49 pm