เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สศค.เผยเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคในเดือนพ.ย.61 อยู่ในเกณฑ์ดี


สศค.เผยเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคในเดือนพ.ย.61 อยู่ในเกณฑ์ดี การบริโภค-ลงทุนเอกชนหนุน


นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนพฤศจิกายนปี 2561 ยังคงขยายตัวในหลายภูมิภาค นำโดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การท่องเที่ยวยังคงขยายตัวในหลายภูมิภาค สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี
          
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเศรษฐกิจขยายตัวโดยมีการบริโภคและลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัว 5.7% ต่อปี จากการขยายตัวในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดศรีสะเกษ หนองบัวลำภู และสกลนครเป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ 9.2% และ 1.6% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัว 10.1% และ 11.5% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัด ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และขอนแก่น เป็นต้น นอกจากนี้ มีเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ 520 ล้านบาทขยายตัว 105.7% ต่อปี
          
สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัว 16.0% และ 34.7% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนพฤศจิกายน 2561 ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 90.8 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤศจิกายนเบื้องต้น ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ 0.9% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 0.7% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
          
ภาคเหนือเศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัว 5.7% และ 10.8% ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวในจังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย และเชียงใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่มูลค่า 1,019 ล้านบาท ขยายตัว 645.4% ต่อปี ตามการลงทุนในจังหวัดลำพูนเป็นสำคัญ สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัว 11.7% ต่อปี จากการขยายตัวในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดกำแพงเพชร น่าน และแพร่ เป็นต้น ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนชะลอลงจากเดือนก่อน
          
สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่ 3.1% และ 8.0% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคเหนือในเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 79.0 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเซรามิกส์ และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ 0.5% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
          
ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัว 10.6% ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสระบุรี สิงห์บุรี และชัยนาท เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 9.5% ต่อปี เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 5.7% ต่อปี และเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่มูลค่า 562 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และลพบุรี เป็นสำคัญ
          
สำหรับด้านอุปทานภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลางที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 97.3 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอลูมิเนียม อุตสาหกรรมแก้วและพลาสติก และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัว 5.3% และ 7.7% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ 0.6% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 1.3% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
          
ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัว 24.1%ต่อปี จากขยายตัวในจังหวัดชลบุรี ระยอง และนครนายก เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ 3.7% ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรชะลอลงจากเดือนก่อน แต่มีเม็ดเงินลงทุนที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ 2,564 ล้านบาท หรือขยายตัว 254.9% ต่อปี จากการลงทุนโรงงานการผลิตเครื่องประดับจากอัญมณีในจังหวัดจันทบุรีเป็นสำคัญ
          
สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกในเดือนตุลาคม ปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 110.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น และอุตสาหกรรมเครื่องประดับ เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัว สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวที่ 3.7% ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ 0.8% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
          
กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจทรงตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงอุตสาหกรรมช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัว 17.0% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดสมุทรสาคร นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร สอดคล้องกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ 2,631 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสมุทรปราการ และปทุมธานี ในโรงงานผลิตและชิ้นส่วนยานยนต์ และโรงงานผลิตเสาเข็มคอนกรีต เป็นต้น สอดคล้องการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัว 4.6% ต่อปี ในขณะที่บริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนชะลอลงจากเดือนก่อน
          
สำหรับด้านอุปทานภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลาง ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 97.3 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอลูมิเนียม และอุตสาหกรรมแก้วและพลาสติก เป็นต้น ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัว 6.2% ต่อปี ตามการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ 1.6% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 1.0% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
         

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจขยายตัว ได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัว 13.3% ต่อปี จากขยายตัวในจังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรี และเพชรบุรี เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อย สะท้อนจากยอดรถจักรยานยนจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ 0.6% ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ 769.2 ล้านบาท หรือขยายตัว 52.6% ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์เป็นสำคัญ
          
สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัว 4.6% และ 6.4% ต่อปี โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นของผู้เยี่ยมเยือนของคนไทยและคนต่างประเทศ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ 1.2% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
         
ภาคใต้ เศรษฐกิจทรงตัว แต่มีภาคการท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชนเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัว 2.0% โดยเฉพาะจากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 5.1% ต่อปี สอดคล้องกับรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 71,416 ล้านบาทหรือคิดเป็นอัตราการขยายตัว 3.6% ต่อปี โดยเป็นการขยายทั้งผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและต่างประเทศที่ขยายตัว 7.4% และ 2.6% ตามลำดับ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อน 
          
สำหรับด้านอุปสงค์ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงจากเดือนก่อน แต่ยังมีเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ 2,084.6 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวในอัตราเร่งที่ 697.7% ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤศจิกายน 2561อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ 1.2% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2561อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
 

LastUpdate 26/12/2561 18:30:12 โดย : Admin
18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 9:23 pm