เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
KTBคาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 4.1%


Krungthai Macro Research คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โตต่อเนื่องที่ 4.1% จากการลงทุนเอกชนและภาครัฐที่ขยายตัวดีขึ้นเป็นแรงขับเคลื่อน เตือนจับตาสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน แนะภาคธุรกิจบริหารความเสี่ยงพร้อมปรับตัวในยุค Disruption

      

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  Krungthai Macro Research คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 4.1% ชะลอตัวลงเล็กน้อยจาก 4.3% ในปีก่อน ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเปลี่ยนจากการส่งออก และการท่องเที่ยว เป็นการลงทุนเอกชนและภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงหลังของปี จากโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC  นอกจากนี้มาตรการดูแลเศรษฐกิจฐานรากของภาครัฐ จะช่วยเสริมกำลังซื้อของภาคครัวเรือน

 
Krungthai Macro Research ประเมินด้วยว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ที่ความเสี่ยงจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นยังมีอยู่ ตลอดจนการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าภาคการผลิตจะชะลอตัวถึงไตรมาส 1 ปี 2019 เป็นอย่างน้อย ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยได้
 
"จีดีพีปีนี้ยังโตได้ 4.1% โดยลดลงเพราะสงครามการค้าและเศรษฐกิจจีนที่เติบโตน้อยลง ซึ่งจะบั่นทอนการเติบโตต่อการส่งออกและท่องเที่ยวได้ โดยส่งออกปีนี้ยังมองไว้ที่ 4% ลดลงจากปีก่อน 7.0%  การท่องเที่ยวปีนี้ 4.5% ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ 7.5%"

 
ด้านดร.กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ รองผู้อำนวยการฝ่าย สายงาน Global Business Development and Strategy กล่าวว่า ปีนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลังไปอยู่ที่ระดับ 2%  การบังคับใช้มาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนเมษายน และการหมดอายุของสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวม LTF เป็นต้น  โดยการบริโภคของกลุ่มผู้ซื้อ LTF อาจลดลง 2.4% เมื่อเทียบกับกรณีที่ยังมีLTF  หากไม่มีมาตรการใดมาทดแทนLTF จะทำให้เงินคืนที่ผู้เสียภาษีจะได้รับหายไปอย่างน้อย 12,000 ล้านบาทต่อปีตั้งแต่ปี2021 

ซึ่งภาคธุรกิจควรเตรียมพร้อมด้านต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยในสัญญาเงินกู้สำหรับภาคธุรกิจจะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับดอกเบี้ยนโยบาย โดยอ้างอิงจากดอกเบี้ย MLR ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่ทุกธนาคารประกาศ จากการศึกษาของธปท.พบว่า หากดอกเบี้ยนโยบายเปลี่ยนไป 1% อัตราดอกเบี้ย MLR จะเปลี่ยนไป 0.33-0.48% โดยเฉลี่ย ดังนั้น การที่ดอกเบี้ยนโยบายขยับจาก 1.5% เป็น 2% ภายในสิ้นปีนี้ จะสามารถประเมินเบื้องต้นได้ว่าดอกเบี้ย MLR จะเพิ่มขึ้น 0.16-0.24% ในปีนี้ และ หากดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มเป็น 3% ในปี 63-64 ก็อาจทำให้ MLR เพิ่มขึ้นอีก 0.33-0.48% จากสิ้นปีนี้

ส่วนดร.จิติพล  พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย บอกว่าฝ่ายวิจัยประเมินค่าเงินบาทสิ้นปีนี้ไว้ที่ 32.00 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากสิ้นปี 61 ที่อยู่ 32.70 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะเติบโตได้ดีอยู่ แต่ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ท้าทายสำหรับภาคธุรกิจ Krungthai Macro Research แนะนำให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญการบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะเรื่องของสภาพคล่องทางการเงิน ในภาวะที่กำลังซื้อจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น และต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น นอกจากนี้ หลายธุรกิจจะพบกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี จึงจำเป็นต้องมีแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคของ technological disruption อีกด้วย

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ม.ค. 2562 เวลา : 19:09:30
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 2:39 am