การตลาด
สกู๊ป "ซีพีแรม" กางโรดแมพ 4.0 ปลุก "5 กลยุทธ์" ดันรายได้ทะยาน 3 หมื่นล้าน


การแข่งขันของธุรกิจในวงการอาหารนับวันจะยิ่งมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันของผู้บริโภค และเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกให้ทัน ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจ เช่นเดียวกับ บริษัท ซีพีแรม จำกัด หลังจากก่อนหน้านี้ได้เคยออกมาประกาศโรดแมพการดำเนินธุรกิจระยะยาว 5 ปีไปบ้างแล้ว

 
ทั้งนี้ เพื่อตอกย้ำโรดแมพที่ประกาศออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ล่าสุดแม่ทัพใหญ่ของ ซีพีแรม ได้ออกมาประกาศแผนเชิงรุกในการขับเคลื่อนธุรกิจอีกครั้ง หลังจากปี 2561 ที่ผ่านมา ได้เริ่มปรับโครงสร้างองค์กรให้เดินไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ดังนั้น ในปี 2562 นี้จึงขอเดินหน้าต่อด้วยการชูกลยุทธ์ CPRAM 4.0 ในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยี เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านอาหารในภูมิภาคเอเชีย

 
 
 
 
นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด กล่าวว่า จากการดำเนินธุรกิจในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาจนถึงยุคปัจจุบัน ซีพีแรม ได้ก้าวเข้าสู่การดำเนินธุรกิจในยุคที่ 7 (แต่ละยุคใช้เวลา 5 ปี) ซึ่งเป็น “ยุคศรีอัจฉริยะ" ถือเป็นยุคที่มาความท้าทายมากที่สุด ซึ่งในส่วนของแผนการดำเนินงานในยุคนี้  บริษัทจะเน้นไปที่การยกระดับขีดความสามารถขององค์กรด้วย CPRAM 4.0 ผ่านการขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยี และเป็นผู้นำ 3S (FOOD SAFETY, FOOD SECURITY, FOOD SUSTAINABILITY) สู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอาหารของโลก  รวมถึงกำหนดยุทธศาสตร์องค์กรยุคที่ 7 ระยะ 5 ปีด้วย “CPRAM Transformation Roadmap” ซึ่งประกอบด้วย Organization Transformation, New Business (Vending machine, Catering Service), Digitalization, Robotization, และจัดตั้ง FTEC (Food Technology Exchange Center) เพื่อให้ปร 2562 นี้มียอดขายอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท

สำหรับกลยุทธ์ที่จะนำมาใช้ในการขยายธุรกิจในปีนี้ ซีพีแรม จะเน้นไปที่กลยุทธ์การตลาดเชิงลึก เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของผู้บริโภค และเชิงกว้างสู่ภูมิภาคทั่วประเทศไทย ด้วยการมีสัดส่วนการยอดขายอาหารพร้อมรับประทาน 65% และเบเกอรี่ 35% ด้วยผลิตภัณฑ์กว่า 900 รายการ โดยมีสินค้าและบริการในกลุ่มบริษัท ซีพีแรม จำกัด อาทิ แบรนด์เจด ดราก้อน, แบรนด์เลอแปง, แบรนด์เดลี่ไทย, แบรนด์เดลิกาเซีย, แบรนด์  ซีพีแรม แคทเทอริ่ง, และแบรนด์ฟู้ดดี้ดี เป็นต้น จำหน่ายผ่านช่องทางร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และร้านค้าชั้นนำทั่วประเทศ กว่า 20,000 แห่ง รวมถึงส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

 
 
 
 
นายวิเศษ กล่าวต่อว่า หลังจากประกาศทิศทางองค์กร 5 ปี (2561-2565) ไปเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการขยายฐานการผลิตไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น  ด้วยการมีโรงงานใหม่เกิดขึ้นอีก 5 แห่ง โดย 2 แห่งในที่ตั้งใหม่จะเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดลำพูน และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนอีก 3 แห่งจะเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงงานเดิม คือ โรงงานชลบุรี โรงงานขอนแก่น และโรงงานบ่อเงิน จังหวัดปทุมธานี  ด้วยงบการลงทุน 4,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันโรงงาน 3 แห่งดังกล่าว ได้สร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้มีกำลังการผลิตอาหารพร้อมรับประทานแช่เย็น และแช่เยือกแข็ง เพิ่มขึ้นอีก 50-70% รองรับการขยายตัวของตลาดที่เพิ่มขึ้นและช่วยเสริมสร้างศักยภาพการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและการสร้างงานสร้างรายได้ในภูมิภาค ขณะเดียวกันยังได้เข้าใกล้แหล่งวัตถุดิบในท้องถิ่น และช่วยให้อาหารที่ผลิตออกจากโรงงานกระจายไปสู่ร้านค้าในเวลาสั้นลง จากเดิมต้องใช้เวลา 6-7 ชม.ลดเหลือ 2-3 ชม.เท่านั้น

จากแผนการดำเนินงานดังกล่าว ทำให้ปัจจุบัน ซีพีแรม มีโรงงานที่ทำการผลิตสินค้าอยู่ด้วยกัน 7 แห่ง ประกอบด้วย ปทุมธานี 2 แห่ง, กรุงเทพฯ, ชลบุรี, ขอนแก่น, ลำพูน และสุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ สำหรับผลิตสินค้าส่งให้กับเซเว่นอีเลฟเว่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และร้านค้าชั้นนำในแต่ละภูมิภาคแล้ว อีกหนึ่งภารกิจสำคัญคือ เพื่อผลิต Local Product “อาหารท้องถิ่น”  ในรูปแบบ “Chilled Food” หรืออาหารแช่เย็น สำหรับผู้บริโภคในท้องถิ่นโดยเฉพาะ จากเดิมมีเฉพาะเมนู Nationwide ซึ่งเป็นเมนูทั่วไปขายทั่วประเทศ แต่นับจากนี้จะมีสัดส่วนสินค้าเมนูอาหารท้องถิ่น 25-30% และอาหารเมนู Nationwide สัดส่วน 70 – 75% เช่น อาหารประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาหารประจำภาคเหนือ อาหารประจำภาคใต้

 
แม้ว่าจะมีการพัฒนาเมนูอาหารท้องถิ่น แต่ ซีพีแรม ก็ออกมาประกาศว่าแผนการดำเนินงานดังกล่าวไม่ได้ตั้งใจจะไปแข่งกับร้านอาหารพื้นเมือง เพราะถึงอย่างไรร้านอาหารท้องถิ่น มีความหลากหลาย และอร่อย แต่ ซีพีแรม พัฒนาเมนูท้องถิ่นขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในเวลาดึกที่ไม่มีร้านอาหารเปิดให้บริการแล้ว และเติมเต็มตลาดของซีพีแรมในต่างจังหวัด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่นั้นๆ

ปัจจัยที่ทำให้ ซีพีแรม สามารถพัฒนาเมนูอาหารใหม่ๆ มาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ได้เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ ซีพีแรม มีการจัดตั้ง FTEC (Food Technology Exchange Center) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสร้างความร่วมมือ และประสานงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอาหาร ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ประกอบด้วยนักวิจัย นักพัฒนา และผู้ใช้ ใน 3 เทคโนโลยีสำคัญ ได้แก่ Biotech, Digitech และ Robotech สู่ความยั่งยืนของอาหาร รวมถึงเป็นการยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมอาหารไทยตั้งแต่ต้นน้ำจวบจนถึงปลายน้ำ FTEC ยังมีผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศในการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ กับเทคโนโลยี เข้าด้วยกันเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุดในการร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร

จากแนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าว ซีพีแรม มั่นใจว่าสิ้นปี 2562 นี้จะมีรายได้อยู่ที่ 20,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีรายได้ 18,000 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน ซึ่งจากความสำเร็จที่ได้รับดังกล่าว ทำให้ ซีพีแรม มั่นใจว่าสิ้นปี 2565 น่าจะคว้ารายได้ 30,000 ล้านบาทได้ไม่ยากนัก  และหากทำได้ ซีพีแรม มั่นใจว่าจะพาองค์กรก้าวขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจอาหารของเอเชียได้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน


 
 
 
 
นายวิเศษ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากการที่สังคมไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างชัดเจน ซีพีแรม จึงได้พัฒนาสินค้าออกมาตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งตอนนี้ทำออกมาวางตลาดแล้ว คือ ข้าวต้มผู้สูงวัย มีคุณสมบัติ เคี้ยวแหลกง่าย ดูดซึมได้ดี และมีคุณค่าทางโภชนาการที่ผู้สูงอายุต้องการเป็นเพราะกลุ่มผู้สูงอายุต้องการกินอาหารไม่เหมือนคนปกติ นอกจากนี้ ซีพีแรมยังได้พัฒนาอาหารสุขภาพและอาหารสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม เข้าไปตอบโจทย์ความต้องการ อาทิ กลุ่มผู้ป่วยหรือมีโรคประจำตัว ซึ่งต้องการอาหารคุณสมบัติพิเศษ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ต้องการอาหารที่หวานน้อย หรืออาหารมีความหวานปกติ แต่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วอัตราการดูดซึมความหวานต่ำ ไม่ทำให้ปริมาณน้ำตาลในร่างกายปรับเพิ่มขึ้น เป็นต้น

 
“ แนวทางปฏิบัติที่ซีพีแรมและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ได้ยึดมั่นและให้ความสำคัญเสมอมา ในการร่วมกันส่งมอบความดีคู่ความเก่งให้กับผู้บริโภคและสังคมในเวลาเดียวกัน ผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่ร้อยเรียงกันมาตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำจึงมีส่วนสำคัญในการตอบสนองความคาดหวังของผู้บริโภคและสังคมทั้งสิ้น เราเรียกการร้อยเรียงของผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำนี้ว่า ห่วงโซ่อุปทาน หรือ SUPPLY CHAIN และร่วมส่งมอบความดีคู่ความเก่งให้กับผู้บริโภคและสังคมเพื่อความปลอดภัยอาหาร ความมั่งคงอาหาร และความยั่งยืนอาหาร 3 เรื่อง หรือเรียกว่า 3S ทั้ง 3S (FOOD SAFETY, FOOD SECURITY, FOOD SUSTAINABILITY) ไม่ได้เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง เราจะต้องร่วมกันทำตลอดห่วงโซ่อุปทานส่งมอบความดีคู่ความเก่งใน 3S นี้ให้กับผู้บริโภคและสังคมเป็นเนื้อเดียวกัน อาทิ โครงการเกษตรกรคู่ชีวิต โครงการปูม้ายั่งยืนคู่ทะเลไทย คนรุ่นใหม่ไร้ Food waste เป็นต้น ”  นายวิเศษ กล่าวสรุป



 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ก.พ. 2562 เวลา : 17:09:03
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 3:09 pm