เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ59-64 เหรียญ/บาร์เรล


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ51-56 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ59-64 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล


บมจ.ไทยออยล์คาดแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 4 – 8 ก.พ. 62 )โดยระบุว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากแรงหนุนของตลาดน้ำมันดิบที่ตึงตัว เนื่องจากอุปทานในกลุ่มโอเปก โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย เวเนซุเอลาและลิเบีย คาดว่าจะปรับตัวลดลงหลังโอเปกประเทศลดกำลังการผลิต ลิเบียเผชิญกับสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ และการประกาศคว่ำบาตรเวเนซุเอลาโดยสหรัฐฯ นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนส่งสัญญาณที่ดีต่อตลาด หลังทั้งสองฝ่ายหันหน้ามาเจรจากัน อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง แต่กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
* จับตาการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่คาดว่าจะทำให้ตลาดน้ำมันดิบตึงตัวขึ้น หลังผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิตลงราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยล่าสุดซาอุดิอาระเบียจะปรับลดกำลังการผลิตในเดือนก.พ. 62 ลงต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้ราว 200,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 10.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่รัสเซียเผยว่าจะร่วมมือลดกำลังการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในเดือนม.ค. ที่ผ่านมารัสเซียปรับลดกำลังการผลิตลงราว 50,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตในเดือนต.ค.61 ซึ่งเป็นระดับอ้างอิง

* ตลาดกังวลกับภาวะอุปทานตึงตัว หลังสหรัฐฯประกาศคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลาในวันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมา เพื่อกดดันรัฐบาลของเวเนซุเอลาภายใต้การนำของประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ที่ถูกวิเคราะห์ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาล่มสลายและส่งผลให้เวเนซุเอลาไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบไปยังสหรัฐฯ ซึ่งหมายความว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาไปยังสหรัฐฯ ราว 500,000 บาร์เรลต่อวัน อาจต้องส่งออกไปยังประเทศอื่นแทนเช่น จีน อินเดีย เป็นต้น และในอีกด้านหนึ่งสหรัฐฯจำเป็นต้องหาแหล่งผลิตน้ำมันดิบอื่นมาทดแทนปริมาณที่ขาดหายไปจากการนำเข้าน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลา อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการบรรเทาอุปทานน้ำมันดิบที่ตึงตัวในสหรัฐฯ รัฐบาลกำลังพิจารณาขายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR)

* ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียมีแนวโน้มปรับลดลง หลังสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศยังคงรุนแรง ส่งผลให้แหล่งผลิตน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดของลิเบียอย่าง แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara กำลังการผลิตราว 300,000 บาร์เรลต่อวัน ต้องหยุดดำเนินการตั้งแต่เดือนธ.ค. 2561 โดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) เผยว่าปัจจุบันกำลังการผลิตของประเทศอยู่เหนือระดับ 900,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับลดลงจากค่าเฉลี่ยในปี 2560 ที่อยู่ที่ระดับ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

* สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนมีแนวโน้มคลี่คลาย หลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ หารือกันเพื่อแก้ปัญหาในวันที่ 30-31 ม.ค.62 โดยหลังจากการหารือ 2 วัน จีนให้คำมั่นว่าจะซื้อสินค้าจากสหรัฐฯมากขึ้นและทั้งสองฝ่ายจะนัดประชุมกันอีกครั้งก่อนการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจะเริ่มบังคับใช้ในเดือนมี.ค.นี้ เพื่อยุติปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน

* ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบในสหรัฐฯมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับ กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 25 ม.ค. 2562 รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 0.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 445.9 ล้านบาร์เรล อันเป็นผลมาจากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงราวร้อยละ 2.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 90.1 ในขณะที่กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

* ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการบริการจีน ยอดค้าปลีกยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิตยูโรโซน ดัชนีภาคการบริการยูโรโซนและดัชนีราคาผู้ผลิตยูโรโซน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ก.พ. 2562 เวลา : 15:31:20
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 1:05 pm