การตลาด
สกู๊ป ฟูจิซึท้ารบตลาดแอร์ปักธงบุกตลาดไทยปี2566 โกยแชร์ 5%


ผู้บริหารฟูจิซึคาดสิ้นปียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 30% คิดเป็นรายได้ 600 ล้านบาทโดยมีส่วนแบ่งตลาด3% มั่นใจว่าภายในปี66ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มเป็น 5% ติดท็อป 5 ของตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศไทย


แม้ว่าในช่วงปลายปีที่ผ่านมาตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยจะอยู่สภาวะถดถอย เนื่องจากสภาพอากาศและเศรษฐกิจภายในประเทศไทยไม่เป็นใจในการทำตลาดเครื่องปรับอากาศเท่าไหร่นัก แต่เนื่องจากประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ร้อนและปัจจุบันเศรษฐกิจภายในประเทศก็เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากภาครัฐออกมาประกาศโครงการเมะโปรเจกต์หลายโครงการไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟความเร็วสูง การขยายเส้นทางเดินรถมอเตอร์เวย์ไปยังจังหวัดนครราชสีมา

นอกจากนี้การที่ราคาพืชผลทางการเกษตรเริ่มปรับราคาขายที่ดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในระดับรากหญ้าเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ประกอบกับภาพรวมตลาดเครื่องปรับอากาศในภูมิภาคอาเซียนมีการขยายตัวในทิศทางที่ดีเมื่อเทียบกับภูมิภาคยุโรปและอเมริกา รวมไปถึงตลาดเอเชีย จึงทำให้บริษัทแม่ของเครื่องปรับอากาศจากประเทศญี่ปุ่นเล็งเห็นโอกาสที่จะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย จากเดิมสินค้าที่ผลิตภายในประเทศไทยจะเน้นผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลักคิดเป็นอัตราส่วนสูงถึง 99%เลยทีเดียว
 

 
 
นายทาเคชิ อุจิชิบะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิตสึ เจเนอรัล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศภายใต้แบรนด์ “ฟูจิตสึ” (Fujitsu) กล่าวว่า “ฟูจิตสึ” ถือเป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการในธุรกิจระบบปรับอากาศที่ทำตลาดมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ ด้วยคุณภาพของสินค้าซึ่งเป็นที่ยอมรับ ส่งผลให้ปัจจุบันเครื่องปรับอากาศของฟูจิซึมียอดขายติดท็อป 5 และติดท็อป 3 ในหลายๆประเทศ เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอเมริกาเหนือ มียอดขายเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ในตลาด และในประเทศญี่ปุ่น ติดอันดับ 1 ใน 3

ปัจจัยที่ให้เครื่องปรับอากาศฟูจิซึ ประสบความสำเร็จ คือ การเป็นเครื่องปรับอากาศแบรนด์ญี่ปุ่นที่ผลิตตามมาตรฐานยุโรป มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้รับสิทธิบัตรได้ในด้านคุณสมบัติต่างๆ มากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก อาทิ เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน เทคโนโลยีการไหลเวียนของอากาศที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุด เทคโนโลยีด้านการปรับอากาศภายในห้อง ระบบสื่อสารเพื่อป้องกันอัคคีภัยและภัยพิบัติ ระบบกรองอากาศที่สามารถทำความสะอาดตนเองเป็นต้น

 
 
 
 
สำหรับประเทศไทยนับเป็นเวลากว่า 30 ปี ที่เครื่องปรับอากาศฟูจิซึใช้ประเทศไทยเป็นฐานการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ขณะที่ผู้บริโภคในประเทศไทยเองยังไม่ค่อยรับรู้แบรนด์มากนัก ซึ่งจากความสำเร็จที่ได้รับในหลายๆ ประเทศ ทำให้ในปีนี้ ฟูจิตสึ มีแผนที่จะนำสินค้าเครื่องปรับากาศเข้ามาทำการตลาดในประเทศไทยอย่างจริงจัง หลังจากทดลองทำตลาดมาเป็นระยะเวลา 2 ปี

กลยุทธ์ที่ฟูจิซึจะนำมาใช้ในการทำตลาดประเทศไทยอย่างจริงจังนับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป คือ การขยายช่องทางจำหน่ายผ่านร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ รวมถึงตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 300 ราย และสิ้นปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 400 ราย

นอกจากนี้ในปี 2563 ฟูจิซึยังมีแผนที่จะนำสินค้าเครื่องปรับอากาศเข้าไปจำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรด เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจากปัจจุบันเน้นจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่ายเป็นหลัก

ด้านนายสินเมธ อิ่มเอม ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ฟูจิตสึ เจเนอรัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าตลาดเครื่องปรับอากาศสำหรับที่อยู่อาศัยในปี 2561 มีมูลค่าประมาณ 22,000 หมื่นล้านบาท คิดเป็นจำนวน 1.5 ล้านเครื่อง โดย ฟูจิตสึ มีแบ่งการตลาดประมาณ 2% หรือมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 450 ล้านบาท ซึ่งการออกมาทำการตลาดเองในครั้งนี้ บริษัทคาดว่าสิ้นปีจะมียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 30% หรือมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 600 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 3% โดยมีสัดส่วนการจำหน่ายในกลุ่ม Business-to-Business (B2B) 40% และ Business-to-Consumer (B2C) 60%

 
 
 
ในส่วนของงบการตลาด เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นยอดขายนั้น ฟูจิซึ ได้เตรียมงบไว้ที่ประมาณ 65 ล้านบาท เพื่อใช้ในการทำตลาดทั้งในรูปแบอะเบิฟ เดอะ ไลน์ (Above the Line) และบีโลว์ เดอะ ไลน์ (Below the Line) โดยจะให้ความสำคัญสื่อออนไลน์มากขึ้น เช่น การทำไวรัลมาร์เก็ตติ้ง (Viral Marketing) และคลิปวิดีโอเพื่อเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยูทูป เฟซบุ๊ก ไลน์ และอินสตาแกรม ขณะเดียวกันกิจกรรมส่งเสริมการขายหน้าร้านก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ให้ความสำคัญ

นายสินเมธ กล่าวต่อว่า ปัจจัยสำคัญของการแข่งขันในตลาดเครื่องปรับอากาศนอกจากจะเป็นเรื่องของความเย็น ความทนทาน เทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้ว การประหยัดพลังงานยังถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากที่สุดเนื่องจากค่าไฟฟ้าคิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยถึงปีละ 30-40% ของมูลค่าเครื่อง ซึ่งเครื่องปรับอากาศที่มีค่าการประหยัดพลังงานสูงๆสามารถคืนทุนค่าเครื่องได้ในเวลาเพียง 1-2 ปีเท่านั้น

จากปัจจัยดังกล่าวฟูจิตสึจึงเตรียมปรับสายการผลิตเครื่องปรับอากาศให้ตอบความสนองความต้องการผู้บริโภคครอบคลุมทุกความต้องการและทุกเซ็กเมนต์ โดยปรับสัดส่วนการผลิตเครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ (Invertor) และนอน-อินเวอร์เตอร์ (non-Invertor) เป็น 70:30 จากที่เคยผลิต 50:50

ปัจจุบันฟูจิซึมีการผลิตเครื่องปรับอากาศสำหรับที่อยู่อาศัยและเชิงพาณิชย์ขนาดเล็ก จำนวน 6 ซีรีส์ รวม 29 โมเดล ขนาดตั้งแต่ 9,000 – 54,000 บีทียู โดยปีนี้มีจะเพิ่มเป็น 8 ซีรีส์ 39 โมเดล ซึ่งจะเริ่มเปิดตัวผลิตภัณฑ์สู่ตลาดอย่างน้อย 4 รุ่นคือ 1. เครื่องปรับอากาศสำหรับที่อยู่อาศัย รุ่น Nocria X ขนาด 12,000 บีทียู 2. เครื่องปรับอากาศสำหรับที่อยู่อาศัย รุ่น i-Max ขนาด 9,000 – 24,000 บีทียู ระบบอินเวอร์เตอร์ ให้ค่าประหยัดพลังงานสูงกว่า เบอร์ 5 ระดับ (3 ดาว)

3. เครื่องปรับอากาศสำหรับเชิงพาณิชย์ขนาดเล็ก รุ่น Ceiling ขนาด 18,000-45,000 บีทียู ให้ค่าประหยัดพลังงานสูงถึง เบอร์ 5 ระดับ (1 ดาว) 4. เครื่องปรับอากาศรวมศูนย์ขนาดเล็ก รุ่น AIRSTAGE J-IIIL ขนาดตั้งแต่ 4-18 แรงม้า (41,200-170,600 บีทียู) เหมาะสำหรับธุรกิจเชิงพาณิชย์ขนาดเล็ก-กลาง และ 5. เครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ขนาดกลาง รุ่น AIRSTAGE V-III Tropical ขนาดตั้งแต่ 8-54 แรงม้า (76,400 – 513,000 บีทียู) ประหยัดพลังงานสูงสุด COP = 4.31

อย่างไรก็ดีเพื่อรองรับตลาดในประเทศไทยที่จะขยายตัวมากขึ้น ฟูจิซึจึงได้มีการซื้อเครื่องจักรใหม่ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีก 20% จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 2.7 ล้านเครื่องต่อปี ซึ่งหลังจากเปิดตัวสินค้าใหม่เข้ามาทำตลาดและทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ฟูจิซึมั่นใจว่าภายในปี 2566 น่าจะมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มเป็น 5% ติดท็อป 5 ของตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศไทย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ก.พ. 2562 เวลา : 17:58:29
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:18 pm