เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ความเชื่อมั่น"ซีอีโออาเซียน"ชี้"เศรษฐกิจ-รายได้ปี 62"ชะลอตัวห่วงปมขัดแย้งการค้า-การเมือง


PwC ประเทศไทยเผยผลสำรวจ Global CEO Survey พบซีอีโออาเซียนเกือบครึ่ง มองแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีนี้เติบโตลดลง ฉุดความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของรายได้ลดลงตาม สอดคล้องกับความเชื่อมั่นที่ซบเซาของซีอีโอทั่วโลก หลังเผชิญกับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการค้า ความไม่แน่นอนทางการเมือง และสภาพเศรษฐกิจขาลงของกลุ่มประเทศมหาอำนาจ โดยผู้นำธุรกิจอาเซียนตระหนักว่าเอไอจะเข้ามาปฏิวัติธุรกิจของพวกเขาในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ยอมรับยังไม่พร้อมนำเอไอเข้ามาใช้งาน เพราะขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ และมีช่องว่างทางทักษะภายในองค์กร “PwC”แนะให้ซีอีโอเร่งเพิ่มทักษะดิจิทัลให้แก่พนักงาน เพื่อจัดทัพองค์กรให้พร้อมทำงานร่วมกับเอไอตั้งแต่วันนี้


นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจซีอีโอทั่วโลก ครั้งที่ 22 ประจำปี 2562 (PwC’s 22nd Annual Global CEO Survey) ที่ใช้ในการประชุมสมัชชาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ณ กรุง ดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งสำรวจความคิดเห็นซีอีโอทั่วโลกจำนวน 1,378 รายใน 91 ประเทศ โดยในจำนวนนี้เป็นซีอีโอจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 78 รายว่า ซีอีโออาเซียนเชื่อว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะชะลอตัวจากปีก่อน คล้ายคลึงกันกับมุมมองของซีอีโอโลก โดยพบว่าซีอีโออาเซียนถึง46% เชื่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีนี้จะลดลงจากปีก่อน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีเพียง 10% ขณะที่ซีอีโอโลก 28% ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะชะลอตัวเปรียบเทียบจากปีก่อนที่ 5%

5 ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเติบโตของ“เศรษฐกิจ-รายได้”

ทั้งนี้ พบว่า 5 อันดับปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ในสายตาของซีอีโออาเซียนในปี 2562 ได้แก่ ความขัดแย้งทางการค้า (83% เทียบกับโลกที่ 70%) ความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมือง (81% เทียบกับโลกที่ 75%) ความไม่แน่นอนของนโยบาย (78% เท่ากับโลก) กฎระเบียบข้อบังคับที่มากและเข้มงวดเกินไป (77% เทียบกับโลกที่ 73%) และ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก (73% เท่ากับโลก)

“ผลสำรวจในปีนี้สะท้อนให้เห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงขาลง โดยซีอีโอมองประเด็นเรื่องของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ความไม่แน่นอนทางการเมืองในหลายๆ ประเทศ รวมถึงสภาพแวดล้อมของกฎระเบียบและนโยบายต่างๆ ที่มีความเข้มงวดหรือมีมากเกินไปเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการเติบโต โดยในปีนี้ เปอร์เซ็นต์ของซีอีโออาเซียนที่มีมุมมองในเชิงลบยังมีมากกว่าซีอีโลกด้วย ซึ่งแตกต่างจากปีก่อนๆ ที่ผู้บริหารในฝั่งเอเชียมักมีความเชื่อมั่นมากกว่าซีอีโอจากฝั่งตะวันตก” นาย ศิระ กล่าว

ปมขัดแย้งการค้าระหว่าง”สหรัฐ-จีน”หนุนธุรกิจปรับแผนกลยุทธ์

นายศิระ กล่าวต่อว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ส่งผลให้ซีอีโออาเซียนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจและกลยุทธ์ในการเติบโต โดย29%มีการปรับกลยุทธ์ในการ

บริหารห่วงโซ่อุปทานและจัดหาวัตถุดิบ โดยหันไปส่งออกและหาแหล่งวัตถุดิบจากประเทศอื่นแทน รวมถึงชะลอการใช้จ่ายด้านการลงทุนออกไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ และคาดหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถเจรจากันได้ และอีก 17% เลือกที่จะเปลี่ยนกลยุทธ์ไปเติบโตในตลาดอื่นๆที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียอย่าง อินโดนีเซีย และ เวียดนาม

ในส่วนของความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของรายได้(Revenue growth)ของซีอีโออาเซียนในปีนี้ ผลสำรวจระบุว่า เปอร์เซ็นต์ความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของรายได้ในระยะ 12 เดือนข้างหน้านั้น ลดลงจาก 44% ในปีก่อนเหลือ 33% ในปีนี้ ขณะที่ 39% ของซีอีโออาเซียนเชื่อมั่นว่า รายได้ในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเติบโต ลดลงจากปีก่อนที่ 53%

เผย 3อุปสรรคที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ

สำหรับอุปสรรคสำคัญ 3อันดับแรกที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของซีอีโออาเซียน ได้แก่ 1. การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ (82%) 2. ภัยคุกคามทางไซเบอร์ (81%) และ3.ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว (72%)

“การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะทางด้านดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด จะส่งผลให้บริษัทสูญเสียโอกาสหลายๆ อย่าง ทั้งความสามารถทางการแข่งขัน การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ รวมไปถึงการขยายสู่ตลาดใหม่ๆอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจในอาเซียน”นายศิระกล่าว

ผู้นำธุรกิจอาเซียนยังมองด้วยว่า 3อันดับตลาดน่าลงทุนที่จะช่วยผลักดันให้บริษัทของพวกเขาเติบโตได้ในปีนี้ ได้แก่ จีน (42%) รองลงมาคือ อินโดนีเซีย (24%) และอันดับที่สาม คือ สหรัฐอเมริกา (21%) ตามลำดับ

อาเซียนพร้อมใช้ “เอไอ” ปฏิวัติธุรกิจแล้วหรือยัง?

นอกจากนี้นายศิระยังย้ำด้วยว่าผู้นำธุรกิจต่างตระหนักดีว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) หรือ เอไอ กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจทั่วโลก โดย72%ของซีอีโออาเซียนคาดว่าการปฏิวัติของเอไอจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อโลก ยิ่งกว่าการปฏิวัติทางอินเทอร์เน็ตซึ่งเคยเกิดขึ้นในช่วงกลางของยุค 90s และ 87% ยังเห็นด้วยว่าเอไอจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจของตนอย่างมีนัยสำคัญในอีก 5 ปีข้างหน้า

แต่ผลสำรวจกลับพบว่าธุรกิจอาเซียนเกือบ 40%ยังไม่มีการนำเอไอเข้ามาใช้งานในปัจจุบัน ขณะที่อีก32% มีแผนที่จะนำเอไอเข้ามาใช้งานในอีก 3 ปีข้างหน้า 28% มีการใช้งานเอไอในวงจำกัดและมีเพียง 4%ที่มีการใช้เอไออย่างกว้างขวางและเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานในองค์กร

“เรามองว่าสาเหตุสำคัญที่ผู้บริหารส่วนใหญ่ยังคงไม่ตื่นตัวในการพัฒนา หรือลงทุนเพื่อนำเอไอเข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำงานอย่างจริงจัง แม้ว่าจะตระหนักถึงความสำคัญในจุดนี้น่าจะเป็นเพราะช่องว่างทางทักษะของแรงงาน ที่มีความรู้ไม่เพียงพอในการใช้งานเอไอ”เขากล่าว

“ช่องว่างทางทักษะ”จุดบอดการใช้เอไอ

ทั้งนี้ช่องว่างทางทักษะ(Skills gap)ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล เพราะปัจจุบันหลายธุรกิจประสบปัญหาการมีแรงงานที่มีทักษะในการทำงานน้อยกว่าที่คาด หรือมีคุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดย 58% ของซีอีโออาเซียนยังมองว่า ปัญหานี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้องค์กรของพวกเขาไม่สามารถใช้งานเอไอได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและสูญเสียโอกาสในการแสวงหาตลาดใหม่ๆ โดยผลกระทบรองลงมา คือ ทำให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่สูงเกินกว่าที่คาดและมีผลต่อคุณภาพ และการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

“ในยุคที่หุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างเช่นทุกวันนี้ ภาครัฐ ผู้นำองค์กร รวมถึงพวกเราทุกคนควรต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองด้วยการเพิ่มพูนทักษะใหม่และฝึกฝนอบรมทักษะเดิมอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานทักษะทางด้านดิจิทัล การคิดวิเคราะห์ข้อมูลและการใช้เหตุผล

“ผมมองว่าเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของทุกฝ่าย ส่วนตัวยังเชื่อว่าการเข้ามาของเอไอจะเป็นไปในลักษณะของ “เพื่อนร่วมงาน”ที่เข้ามาสนับสนุนการทำงานประเภทที่ต้องทำซ้ำๆและเปิดโอกาสให้แรงงานคนได้ไปใช้ทักษะในด้านอื่นมากกว่าเข้ามาแย่งงาน แต่นั่นแปลว่าเราก็ต้องรู้จักวิธีที่จะสามารถทำงานร่วมกับเอไอได้อย่างเต็มประสิทธิภาพด้วย”

ขณะที่สถาบันการศึกษาเอง ก็ควรส่งเสริมหลักสูตรสะเต็มศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นแนวทางการจัดการศึกษาให้เกิดการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ให้แก่บุคลากรที่กำลังจะถูกป้อนออกสู่ตลาดแรงงาน โดยไม่ลืมที่จะปลูกฝังทักษะทางด้านอารมณ์ควบคู่กัน

LastUpdate 22/02/2562 10:52:24 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:02 pm