การตลาด
สกู๊ป"ธุรกิจสื่อ"ยังเลือดไหลทีวี-หนังสือพิมพ์ปิดกิจการสังเวยดิสรัปชั่น


ถือเป็นข่าวที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการสื่อเลยทีเดียว หลังจากสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ออกมาประกาศเปิดช่องให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสามารถเข้ามายื่นเรื่องขอคืนใบอนุนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลได้ ซึ่งจากประกาศดังกล่าวทำให้มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ไปต่อไม่ไหวตบเท้าเข้ามาขอยื่นความจำนงค์คืนช่องมากถึง 7 ช่อง ประกอบไปด้วย 1.ช่อง 20 ไบรท์ทีวี 2.ช่อง 21 วอยซ์ทีวี 3.ช่อง 14 MCOT Family 4.ช่อง 19 สปริงนิวส์ 5.ช่อง 26 สปริง (Now26 เดิม) 6.ช่อง 13 3แฟมิลี่ และ 7.ช่อง 28 3SD ซึ่งจากจำนวนช่องที่ขอคืนดังกล่าวทำให้ช่องทีวีดิจิทัลที่ปัจจุบันมี22ช่อง เหลือผู้ประกอบการที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปเพียง15ช่องเท่านั้น


หลังจากเปลี่ยนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลดังกล่าวทำให้กสทช.ได้มีการกำหนดสูตรการคืนเงินให้กับช่องทีวีดิจิทัลใหม่ว่าด้วยเงินที่ทีวีดิจิทัลได้ชำระมาแล้ว คูณด้วยอายุใบอนุญาตที่เหลือ (9.5 ปี) หารด้วยอายุใบอนุญาต(15 ปี)นำมาคำนวณเบื้องต้นพบว่า 1.ช่อง 3 แฟมิลี่ ได้เงินคืน 241 ล้านบาท 2.ช่อง 19 สปริงนิวส์ ได้เงินคืน 520 ล้านบาท 3.ช่อง 20 ไบรท์ทีวี ได้เงินคืน 494 ล้านบาท 4.ช่อง 21 วอยซ์ ทีวี ได้เงินคืน 516 ล้านบาท 5.ช่อง 14 อสมท วงเงิน 231 ล้านบาท 6.ช่อง 28 (ช่อง 3 เอสดี) วงเงิน 941 ล้านบาท 7.ช่อง 26 สปริง 877 ล้านบาท รวมเป็นทั้งสิ้นประมาณ 3,820 ล้านบาท

การยกเลิกกิจการของทีวีดิจิทัลทั้ง7ช่องดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายเริ่มหันมาจับตาพนักงานของทั้ง7ช่อง ซึ่งมีอยู่ประมาณ1,500 คนว่าจะทำกันอย่างไรต่อไป เพราะตั้งแต่ต้นปี2562ที่ผ่านมาธุรกิจสื่อของไทยมีความสั่นคลอนพอสมควร เนื่องจากทุกสื่อหันมาลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงานออกเป็นระยะไม่ว่าจะสื่อทีวีหรือสื่อสิ่งพิมพ์

นายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)กล่าวว่าการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลของบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยให้แก่กสทช.ในครั้งนี้คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 949.70 ล้านบาท ปัจจุบันใบอนุญาตฯคงเหลืออายุอีก 9 ปี 10 เดือนหรือจะหมดอายุในวันที่ 24 เม.ย.2572

นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด กล่าวว่าหลังจากคืนใบอนุญาตบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปด้วยการปรับรูปแบบเป็นแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ ทั้งในเว็บไซต์ ยูทูบ เฟซบุ๊กเพจ ไลน์ อินสตาแกรมและทวิตเตอร์ โดยจะเริ่มออกอากาศผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในวันที่31ก.ค.นี้เป็นต้นไป

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน)กล่าวว่าการคืนใบอนุญาตช่อง14 MCOT Familyในครั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย ส่วนช่องที่เหลือคือ ช่อง MCOT HD ยังจะเดินหน้าดำเนินธุรกิจต่อไปตามแผนงานเดิม

ด้านบริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด(มหาชน)เจ้าของทีวีดิจิทัลช่อง 3 ออกแถลงการณ์ระบุด้วยการแข่งขันที่สูงในธุรกิจทีวีดิจิทัลจากจำนวนช่องที่มากเกินไปในขณะที่เม็ดเงินโฆษณาหดตัวลงตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ชมที่หันไปรับชมรายการต่างๆบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลส่วนมากต้องแบกรับปัญหาขาดทุนทำให้มีผู้ประกอบการหลายรายตัดสินใจคืนใบอนุญาตในที่สุด โดยช่อง3นั้นได้ตัดสินใจคืนใบอนุญาตของช่อง
13และ28 หลังจาก5ปีที่ผ่านมาได้มุ่งมั่นตั้งใจอย่างเต็มที่ในการผลิตรายการที่ดีสำหรับผู้ชมแต่หลังจากนี้ก็จะมุ่งมั่นและโฟกัสพัฒนาช่อง3 หรือช่อง33ให้ดียิ่งขึ้นไป

 
 
 
 
นอกจากสื่อทีวีจะเกิดปัญหาปั่นป่วนแล้ว ในส่วนของสื่อสิ่งพิมพ์ก็ยังคงเกิดความระส่ำระสายเช่นเดียวกัน หลังจากก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐประกาศลดคน หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์และหนังสือพิมพ์เอ็มทูเอฟประกาศปลดพนักงาน เพื่อลดต้นทุนและเปลี่ยนแพลตฟอร์มไปสู่ออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมามีกระแสข่าวออกมาว่าหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น(The Nation)จะปิดตัว โดยจะตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายในวันศุกร์ที่ 28 มิ.ย.2562

สำหรับหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ตีพิมพ์ครั้งแรกในชื่อ"เดอะ วอยซ์ ออฟ เนชั่น"(The Voice of Nation)เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2514 หรือเมื่อ 48 ปีก่อน ก่อตั้งโดย นายสุทธิชัย แซ่หยุ่น หม่อมราชวงศ์หญิงสุนิดา กิติยากรและนายธรรมนูญ มหาเปารยะ หลังลอร์ดทอมสันแห่งฟลีท(Lord Thomson of Fleet)จากประเทศอังกฤษ เจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ซื้อกิจการหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์

ต่อมาคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินก่อรัฐประหารในวันที่ 6 ต.ค. 2519 มีคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยทุกฉบับ นายสุทธิชัยจึงนำใบอนุญาตที่เคยทำสำรองไว้ก่อนหน้านั้น ออกหนังสือพิมพ์ชื่อใหม่ว่า เดอะ เนชั่น รีวิว (The Nation Review) แล้วเปลี่ยนมาเป็นเดอะเนชั่น(The Nation)เมื่อปี 2528 มาถึงปัจจุบัน

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด กล่าวว่าการหายไปของทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่อง มองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพของอุตสาหกรรมโฆษณาเท่าไหร่นัก เพราะทั้ง7ช่องมีฐานคนดูรวมเพียง8%จากฐานคนดูทั้งหมดแม้จำนวนช่องจะหายไป 1 ใน 3

นอกจากนี้หากมองในด้านของเม็ดเงินโฆษณาจากของทั้ง7ช่องก็ถือว่าน้อยมาก เพราะทั้ง7ช่องมีเม็ดเงินโฆษณารวมกันเพียง 120 ล้านบาท/เดือนเท่านั้น หรือหายไปเพียง 1,440 ล้านบาทต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบโฆษณาที่เกิดจาก ทีวีโฮมช้อปปิ้งเป็นหลัก

นายภวัต กล่าวอีกว่าหลังจากนี้ไปกลุ่มผู้ชมที่เคยดูรายการต่างๆของทีวีดิจิทัลทั้ง7ช่อง อาจจะเลือกกลับไปดูคอนเทนต์จากช่องเดิมของช่องที่หายไปอย่างเช่น เนชั่น Mcot และ BEC รวมถึงอานิสงส์ช่องที่ช่องข่าวอื่นๆ อย่างเช่น ไทยรัฐทีวี เป็นต้น

ส่วนในเรื่องของงบโฆษณา นายภวัต มองว่าอาจจะไหลไปที่ 15 ช่องที่เหลือน้อยมากเพราะส่วนใหญ่เป็นโฆษณาแบบทีวีโฮมช้อปปิ้งที่ทุกช่องก็ทำอยู่แล้วและทิศทางการขายโฆษณาผ่านทีวีโฮมช้อปปิ้งก็ยังโตต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีเหตุการณ์คืนช่องหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากลูกค้ามีทางเลือกในการเลือกใช้สื่อมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะออนไลน์และการทำมาร์เก็ตติ้งไม่ผ่านสื่อ เช่นการจัดกิจกรรมและส่งเสริมการขาย ลด แลก แจกแถม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้สื่อทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์ที่เหลือเริ่มมีความกดดันมากขึ้น เพราะหากไม่รีบปรับตัวรับมืออาจถูกเทคโนโลยี DISRUPTได้ ดังนั้นทุกสื่อควรพัฒนาคอนเทนต์, กลยุทธ์ และแพลตฟร์มใหม่ๆมาให้บริการเพิ่มเติม เพราะผู้บริโภคยุค4.0ต้องการคอนเทนต์ บริการที่หลากหลายและรวดเร็ว

บันทึกโดย : วันที่ : 18 พ.ค. 2562 เวลา : 22:50:02
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 10:33 am