เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"บริษัทเจ๊ง-ตกงาน"มนุษย์เงินเดือนไร้เสี่ยงเดินตามแผน 4 เคล็ดลับคุ้มครองรายได้


ช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจดูเหมือนจะไม่ดีอาจจะทำให้“มนุษย์เงินเดือน”หลายๆคนเกิดความกังวลและรู้สึกถึงความเสี่ยงในการถูกออกจากงาน


ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนั้นจริงคุณในฐานะ“มนุษย์เงินเดือน”จะทำอย่างไร คุณจะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายหากคุณไม่ได้มีการวางแผนทางการเงินที่ดี คุณก็ต้องตกอยู่ในภาวะยากลำบากได้

ดังนั้นในช่วงเวลาที่คุณสามารถทำงานได้อย่างปกติ คุณจึงต้องควรเตรียมพร้อม รับมือกับความเสี่ยงเรื่องการตกงานด้วย

มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯวันนี้จึงมี “4 เคล็ดลับช่วยวางแผนคุ้มครองรายได้”มาฝากคุณดังนี้

คุณต้องวางแผนคุ้มครองรายได้จากเงินออม โดยคุณควรออมเงินเอาไว้เผื่อช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดีและตั้งงบประมาณสำรองเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน โดยการคำนวณรายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของตัวเองและสำรองเงินไว้ ตามที่กำหนด โดยคุณต้องลองเขียนออกมาดูเลยว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างในแต่ละเดือน เช่น ค่าเช่าห้อง 5,000 บาท ค่ากินอยู่ 5,000 บาท ค่าเดินทาง 1,000 บาท ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 5,000 บาท รวม 16,000 บาท

นั่นหมายความว่าหากคุณเกิดตกงานแล้วไม่เงินสำรองเลยจะทำให้คุณใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในช่วงที่กำลังหางานใหม่ ดังนั้นควรเก็บเงินสำรองอย่างน้อย 3-6 เดือนเอาไว้ คิดเป็นประมาณ 48,000- 96,000 บาท ด้วยการทยอยออมเงินจากรายได้ในแต่ละเดือนให้ครบตามที่กำหนด

ขณะเดียวกันคุณควรวางแผนคุ้มครองรายได้ด้วยการลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับมนุษย์เงินเดือนหลายคนที่จะแบ่งเวลาไปประกอบอาชีพอื่นแต่คุณสามารถให้เงินทำงานแทนคุณได้ด้วยการนำเงินออมที่มีอยู่มาลงทุนในกองทุนรวมหุ้น หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่มีการจ่ายเงินปันผล

เพราะอย่างน้อยเวลาเมื่อคุณตกงานจะได้มีเงินสดเอาไว้ใช้ยังชีพหรือถ้ามีความรู้และประสบการณ์มากพอก็อาจหาโอกาสลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีความมั่นคงและมีศักยภาพในการเติบโตต่อไปในอนาคต เพื่อให้เงินลงทุนของเราเติบโตไปพร้อมกับกิจการด้วย

จากนั้นคุณควรใช้สิทธิเงินทดแทนรายได้จากกองทุนประกันสังคม หากคุณจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน(ถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา) โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย กองทุนประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนให้

โดยคุณต้องยื่นขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน หลังจากถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน โดยมีเกณฑ์การได้รับเงินทดแทนดังนี้

กรณีถูกเลิกจ้างคุณต้องได้รับเงินทดแทนการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน อัตรา50%ของค่าจ้างเฉลี่ยหรือในกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน หรืออัตรา30%ของค่าจ้างเฉลี่ย

หมายเหตุ: คำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ที่มา: สำนักงานประกันสังคม (www.sso.go.th)

นอกจากนี้คุณควรใช้สิทธิเงินชดเชยรายได้จากพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 เพราะการตกงานและเลิกจ้าง โดยที่คุณไม่ได้ลาออกเองโดยสมัครใจนั้นจะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานอยู่แล้ว คุณสามารถตกลงกับนายจ้างเพื่อขอรับเงินชดเชยได้ตามอายุการทำงานดังนี้

หากคุณอายุการทำงานไม่น้อยกว่า 120 วันแต่ไม่เกิน 1 ปี คุณจะได้รับเงินชดเชย ค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30วัน หรือ 1 เดือน

ถ้าคุณอายุการทำงานนานกว่า 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี คุณจะได้รับเงินชดเชยค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน หรือ 3 เดือน

หรือหากคุณอายุการทำงานมากกว่า 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี คุณจะได้รับเงินชดเชยค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือ 6 เดือน

ส่วนถ้าคุณอายุการทำงานนานกว่า 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี เงินชดเชยค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน หรือ 8 เดือน

และถ้าคุณอายุการทำงานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป เงินชดเชยค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 หรือ 10 เดือน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการวางแผนคุ้มครองรายได้ คุณสามารถทำได้หลายทางตั้งแต่การวางแผนเงินออมและเงินฉุกเฉินของตัวคุณเอง การมีรายได้ที่มากกว่า 1 ทาง รวมถึงการเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมและการใช้สิทธิตามกฎหมายของพรบ.คุ้มครองแรงงาน

เพราะฉะนั้นคุณในฐานะ“มนุษย์เงินเดือน”ต้องอย่าลืมวางแผนทางการเงิน เพื่อคุ้มครองรายได้และเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะวิกฤติตกงาน บริษัทขาดทุนจนเจ๊งหรือล้มละลาย เพราะหากวันนั้นมาถึงคุณยังมีเงินเลี้ยงชีพระหว่างตกงานได้อย่างน้อย 3-6 เดือนแบบไม่ลำบาก

LastUpdate 29/05/2562 17:46:32 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:46 pm