เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กสิกรไทยปรับลดเป้าจีดีพีปี62เหลือ3.1%


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ3.1%จากเดิมที่3.7%ส่่งออก โต0% ผลจากการชะลอตัวของการค้าโลกและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนมีโอกาสยืดเยื้อส่วนการลงทุนภาครัฐโตเพียง 1.5%


 
 
 
 
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่าทิศทางการค้าโลกในระยะที่เหลือของปีนี้อาจถูกกดดันจากการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในวงเงินที่เหลืออีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์ฯ ทำให้มีการปรับลดประมาณการของการส่งออกในปีนี้ลงมาที่ 0%จากเดิมที่ 3.2% ซึ่งต้องติดตามผลการประชุมG20และการหาทางออกของเกมการเมืองของทั้งสองประเทศ รวมถึงสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาท แต่หากมีสัญญาณบวกจากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯและจีน การส่งออกยังมีโอกาสขยายตัวดีขึ้น ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ตัวเลขจีดีพีจะขยับเข้าหากรอบบนของช่วงประมาณการใหม่ที่ 2.9-3.3% 
          
 
 
 
 
อย่างไรก็ตามแม้ตัวเลขจีดีพีทั้งปีอาจลดภาพบวกลงจากเดิมแต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรกจากผลของฐานและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่คาดว่าจะเร่งผลักดันนโยบายที่สอดคล้องกับที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ช่วงก่อนการเลือกตั้ง อาทิ นโยบายประชารัฐ ประกันรายได้พืชผลเกษตร รวมถึงนโยบายเร่งด่วนเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่่งปัจจัยสนับสนุนนี้จะชดเชยผลกระทบจากความล่าช้าของงบประมาณประจำปี2563ได้
          
ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนั้นการประชุม กนง.น่าจะยังคงนโยบายไว้ที่ 1.75%ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยให้น้ำหนักกับเสถียรภาพของเศรษฐกิจคู่ขนานไปกับการติดตามปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีอยู่มาก และคาดว่าเฟดอาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1-2 ครั้งในปีนี้ หลังสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มชะลอลง
          
 
 
 
ด้านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยนั้น นางสาวณัฐพร มองว่าตัวเลขทั้งปีนี้น่าจะเติบโตที่ 4.5% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 5% จากสินเชื่อภาคธุรกิจที่เติบโตช้าตามบรรยากาศเศรษฐกิจ รวมถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปีที่ยังได้รับผลกระทบจากการเร่งซื้อล่วงหน้าไปแล้วก่อนมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
 
 
 
 
ส่วนหนี้เอ็นพีแอลปีนี้คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ในกรอบ 2.98-3.0% โดยต้องติดตามหนี้เอ็นพีแอลย้อนกลับหรือ Re-Entry เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ขยายตัวได้ดีนัก ทำให้กระทบความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มSMEs กลุ่มสินค้าเกษตร การก่อสร้างและค้าส่ง
 
ด้านดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยอมรับว่าค่าเงินบาทในปีนี้ยังผันผวนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้นโยบายอัตรานโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯที่จากเดิมที่ตลาดคาดการณ์ จะปรับขึ้น 2-3 ครั้งในปีนี้เหลือเพียง 1 ครั้ง ทำให้เงินลงทุนจากสหรัฐฯที่เคยไหลเข้ามาในตลาดไทยอาจกลับไปลงทุนในตลาดสหรัฐฯ
          
โดยคาดว่าเงินบาทในปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเงินบาทไทยแข็งค่าเกือบร้อยละ 6 สูงสุดในภูมิภาค  แต่เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะดูแลการเคลื่อนไหวของเงินบาทได้อย่างเหมาะสม 


 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 มิ.ย. 2562 เวลา : 16:04:27
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 3:18 pm