เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังออกอาการ รัฐต้องเร่งอัดมาตรการกระตุ้นเพิ่ม


หลังจากสภาพัฒน์ฯรายงานตัวเลข GDP Growth ไตรมาส 2 ปี 2562 ขยายตัว 2.3% yoy ชะลอลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 4 ปี 9 เดือน และต่ำกว่าที่ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส หรือ ASP คาดไว้ที่ 2.7% สาเหตุหลักมาจากเกือบทุกตัวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชะลอลง


 
 
 
และที่หนักสุดก็คือภาคส่งออกซึ่งคิดเป็น 68% ของGDPที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่รุนแรงจะเห็นได้จากตัวเลขส่งออกไตรมาส 2 ปีนี้ ในรูปของสกุลดอลลาร์สหรัฐ หดตัวเฉลี่ย 3.8% yoy และในรูปเงินบาทหดตัวสูงถึง 6.1% จากเงินบาทต่อดอลลาร์ที่แข็งค่าเฉลี่ยราว 1.2% yoy

อีกทั้งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวเพียง 1.1% ลดลงจาก 3.4% ไตรมาส 1 ปี 2562 จากการเบิกจ่ายที่ลดลง เนื่องจากเป็นไตรมาสที่การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ยกเว้นการลงทุนภาครัฐที่พลิกมาขยายตัว 1.4% หลังหดตัว 0.1% ผลจากการเร่งเบิกจ่าย เพื่อการก่อสร้าง เช่น รถไฟสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี, รถไฟทางคู่ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น

โดยรวมแล้วทำให้ GDP Growth ไทยช่วงครึ่งปีแรก ขยายตัวเฉลี่ย 2.6% ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยฯประเมินว่าGDP Growth ปี 2562 มีความท้าทายอย่างมากหากจะให้ขยายตัวเกิน 3% โดยฝ่ายวิจัยฯยังคงคาดการณ์ GDP ปีนี้ขยายตัว 2.7% ตามเดิมและคาดไตรมาส 3 และ 4 ปี 2562 GDP ต้องขยายตัวเฉลี่ยอย่างตํ่า 2.7-2.8%

สำหรับปัจจัยที่ท้าทายในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงให้น้ำหนักกับภาคส่งออกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอ โดยเฉพาะจีนเนื่องจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ยืดเยื้อ และมีโอกาสที่จีนจะถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้ารอบที่ 4 วงเงิน 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 1 ก.ย. 2562 และเงินบาทที่แข็งค่า

ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2562 จะได้รับผลกระทบจาก งบประมาณภาครัฐล่าช้า โดยเฉพาะงบลงทุนที่ยังไม่มีการก่อหนี้ผูกพัน ซึ่งสศค. ประเมินเม็ดเงินที่จะหายไปจากระบบเศรษฐกิจราว 7-8 หมื่นล้านบาท หรือราว 0.56% ของ GDP ปี 2561

ดังนั้นฝ่ายวิจัยฯเชื่อว่าความท้าทายที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลและธปท.ต้องเร่งเดินหน้าออกมาตรการทั้งการเงินและการคลังเพิ่มเติมมากกว่าปัจจุบัน เพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอลง ดังนี้...

 
 
 
มาตรการกระตุ้นของภาครัฐ โดยครม.เศรษฐกิจอนุมัติมาตรการวงเงิน 3.16 แสนล้านบาท ซึ่งเสนอให้ครม.อนุมัติวันนี้ มุ่งไปที่ 3 กลุ่มคือ การบริโภคครัวเรือน ท่องเที่ยว และการลงทุนเอกชน

อย่างไรก็ตามเม็ดเงินจากมาตรการดังกล่าวที่จะอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจได้ทันที จากวงเงินทั้งหมด 3.1 แสนล้านบาท เชื่อว่าจะมีเพียงราว 3-4 หมื่นล้านบาท หรือ 0.25% ของ GDP ไทย ปี 2561 คือที่ราว 16.3 ล้านล้านบาท เช่น มาตรการเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการเป็น 1,000 บาท จาก 500 บาท, อัดฉีดเงิน 1,000 บาท ท่องเที่ยวที่มิใช่ภูมิลำเนา เป็นต้น

ซึ่งฝ่ายวิจัยฯมองว่าไม่น่าเพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดว่ารัฐบาลจะต้องเร่งออกมาตรการอื่นเพิ่ม เช่น ช้อปช่วยชาติ, การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง 10% (กำลังพิจารณา) เป็นต้น

เชื่อว่ามีโอกาสที่ กนง.อาจปรับลดอัตราดอกเบีย้นโยบายลงเป็นครั้งที่ 2ของปีนี้ราว 25 bps หลังจากต้นเดือนส.ค. 2562 ลดครั้งแรกในรอบ 4 ปี 5 เดือน จาก 1.75% เป็น 1.5% ทำให้แบงก์พาณิชย์ใหญ่และธนาคารของรัฐ ทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ MOR และ MRR

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ส.ค. 2562 เวลา : 16:20:59
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 6:58 pm