การตลาด
สกู๊ป "โฮมช้อปปิ้ง"เมินปัจจัยลบลุยผนึกทีวีดิจิทัลขยายธุรกิจโต


แม้ว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่จะหันมาพึ่งพาการหารายได้จากธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง  แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยพยุงให้ธุรกิจโฮมช้อปปิ้งและทีวีช้อปปิ้ง หลุดรอดจากผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัว รวมไปถึงการดิสรัปชั่นของเทคโนโลยีที่เข้ามาส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจได้


 
 
 
 
 
ทั้งนี้เห็นได้จากภาพรวมธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา(ม.ค.-มิ.ย. 2562) ที่มีอัตราการเติบโตลดลงจากปี 2561 ที่ภาพรวมธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งมีอัตราการเติบโตสูงถึง 15.5%  มูลค่าตลาดอยู่ที่ 13,823 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 15.5%   

ส่วนภาพรวมธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 7,351 ล้านบาท เติบโต 12.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นธุรกิจทีวีช้อปปิ้งประมาณ 4,243 ล้านบาท เติบโตประมาณ 8% และธุรกิจโฮมช้อปปิ้งประมาณ 3,107 ล้านบาท เติบโต 14%

อย่างไรก็ดีแม้ว่าภาพรวมธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งปีนี้จะมีอัตราการเติบโตลดลงจากปีที่ผ่านมาแต่หากนำมาเปรียบเทียบกับหลายธุรกิจถือว่ายังเป็นธุรกิจที่มีอนาคต เนื่องจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยังให้ความสนใจก้าวเข้ามาทำธุรกิจนี้  เพราะช่วงเวลาในการออกอากาศยังเหลืออยู่มากพอสมควร ซึ่งการเลือกจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่างผู้ประกอบการทีวีโฮมช้อปปิ้งถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับช่อง

 
 
 
 
 
นายทรงพล ชัญมาตรกิจ นายกสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) กล่าวว่าธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งยังมีอนาคตที่ดีและมีกลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่น นอกจากนี้ธุรกิจยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขยายตัวของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งค่อนข้างแตกต่างจากธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เช่น อายุ และความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาค เป็นต้น

ปัจจุบันเทรนด์ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าทางทีวีช้อปปิ้งและโฮมช้อปปิ้งมีการเปลี่ยนแปลงไป  คือ มีการผสมผสานกันระหว่าง Shopping Experience กับ Shopping Journey เนื่องจากผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบาย รวดเร็วและตรงความต้องการ เพราะปัจจุบันผู้บริโภคได้ยกระดับสู่การเป็น Prosumer (Professional + Consumer) ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น จึงมีการศึกษาข้อมูลสินค้า เปรียบเทียบราคาและโปรโมชั่น และต้องการเลือกซื้อสินค้าในช่องทางที่ได้ราคาที่ดีที่สุด

นายทรงพล กล่าวต่อว่าการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ชและโซเชียล คอมเมิร์ซที่มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในขณะนี้ปัจจัยดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโฮมช้อปปิ้งแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับส่งผลบวกให้กับธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจทีวีช้อปปิ้งนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม Baby Boomer ที่เกิดในปี 2489-2507 และ Gen X ที่เกิดในปี 2508-2522 ซึ่งยังมีพฤติกรรมรับชมทีวีเป็นสื่อหลักและกำลังปรับตัวเข้าสู่การสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์  กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง

ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีครัวเรือนที่ติดตั้งอุปกรณ์รับชมรายการโทรทัศน์ทั้งสิ้นประมาณ 21.71 ล้านครัวเรือน (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 98.1% จากทั้งหมด 22.13 ล้านครัวเรือน ขณะที่ ‘ทีวีดาวเทียม’ เป็นช่องทางรับชมที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยในปีที่ผ่านมามีสัดส่วนการรับชมอยู่ที่ 53.26% เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 50.7% ขณะที่การรับชมทีวีดิจิทัลและเคเบิลทีวีมีสัดส่วนลดลงเล็กน้อย

นายทรงพล กล่าวอีกว่าในส่วนของแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัท ทีวีไดเร็ค ในปีนี้ล่าสุดได้มีการเจรจาซื้อเวลาโฆษณาจากทีวีดิจิทัล ช่อง 33 หรือ ช่อง 3 ทั้งช่วงเช้า กลางวัน เย็นและค่ำ ในรายการต่างๆ เช่น ข่าวเช้า ข่าวเที่ยง ละครเย็นและเวลาอื่นๆ เพื่อเพิ่มยอดขายจากการออกอากาศรายการแนะนำสินค้า หรือ โฮมช้อปปิ้ง และเตรียมเริ่มออกอากาศโฮมช้อปปิ้งช่องใหม่ทางทรูวิชั่นส์ ช่อง 54 ในเดือน ต.ค. นี้ เนื่องจากช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัทค่อนข้างได้รับผลกระทบจากยอดขายสินค้าโฮมช้อปปิ้งทางช่อง สปริงนิวส์ 19 ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะสปริงนิวส์ มีการขอคืนช่องและยุติออกอากาศไปในวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา

 
 
 
 
 
ส่วนภาพรวมธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งในช่วงครึ่งปีนี้ (ก.ค.-ธ.ค. 2562) นายทรงพล คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 6,983 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากปัจจัยลบภายในและภายนอก ส่งผลให้กำลังซื้อผู้บริโภคน่าจะยังไม่ฟื้นตัว นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากการที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่องทยอยคืนช่องแก่สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ด้านนายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจสายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อิเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด กล่าวว่า ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณา 7 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ค. 2562) ธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง ยังเป็นแชมป์ใช้งบโฆษณารวม 4 รายใหญ่ มูลค่า 3,735 ล้านบาท เบอร์หนึ่ง คือ Shop 1781 ของ อาร์เอส ทางช่อง 8 มูลค่า 1,508 ล้านบาท ตามด้วย “ทีวีไดเร็ค” ที่กระจายอยู่หลายช่องทีวีดิจิทัล รวมมูลค่าใช้งบโฆษณา 904 ล้านบาท ส่วน Sanook Shopping (สนุก ช้อปปิ้ง) มูลค่า 717 ล้านบาท ตามด้วย O Shopping (โอ ช้อปปิ้ง) มูลค่า 606 ล้านบาท  ซึ่งจากข้อมูลของ นีลเส็น พบว่าเดือน ก.ค. ปรากฏชื่อธุรกิจไดเร็คเซล แบรนด์เล็กๆ ใช้งบโฆษณาอีกมูลค่ากว่า 65 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีแม้ว่าปีนี้ภาพรวมธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งจะมีอัตราการเติบโตลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อ รวมไปถึงการคืนช่องของธุรกิจทีวีดิจิทัล แต่ธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งก็ยังคงเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มดี เพราะตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งมีอัตราการเติบโตมาต่อเนื่อง เห็นได้จากปี 2558 ที่ธุรกิจมีมูลค่า 8,444 ล้านบาท เติบโต 17.5% ปี 2559 มูลค่า 9,840 ล้านบาท เติบโต 14.2% ปี 2560 มูลค่า 11,670 ล้านบาท เติบโต 15.7% ปี 2561 มูลค่า 13,820 ล้านบาท เติบโต 15.5% และในปี 2562 นี้คาดการณ์กันว่า อาจทะลุถึง 15,000 ล้านบาท เนื่องจากช่องทีวีดิจิทัลที่ยังเหลืออยู่ยังคงต้องการทีวีโฮมช้อปปิ้งเป็นพันธมิตรเพื่อเพิ่มรายได้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ส.ค. 2562 เวลา : 12:34:19
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 1:04 pm